การตลาด
โอกาสฟื้นร้านนวด-สปาไทยสร้างความมั่นใจลูกค้าหลังคลายล็อคเฟส 3


เป็นที่ทราบกันดีด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนเป็นวงกว้างอันเนื่องมาจากมาตรการการรับมือของภาครัฐที่ต้องการควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งความระมัดระวังในการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วไป ทำให้ธุรกิจบริการหลายประเภท มีความจำเป็นต้องหยุดให้บริการเพื่อสนองรับมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่งขาดรายได้ และมีความจำเป็นต้องลด หรือเลิกจ้างพนักงาน หรือแม้กระทั่งปิดตัวลงด้วยต้านทานพิษเศรษฐกิจไม่ไหว ธุรกิจร้านนวด-สปา ก็เป็นอีกประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอันเนื่องมาจากสถานการณ์กล่าว ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการที่ลดลง ส่งผลทำให้การใช้บริการนวด/สปาได้ทยอยลดลงตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนเมษายน 2563


จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี พบผู้ติดเชื้อน้อยลงจนอยู่ในระดับตัวเลขที่ไว้วางใจได้ รัฐบาลจึงมีมาตรการผ่อนปรนจนมาถึงระยะที่ 3 ซึ่งได้มีการอนุญาตให้สถานบริการประเภทคลินิกความงาม ร้านนวด/สปา กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง อย่างไรก็ดีการกลับมาให้บริการตามปกติจะต้องอยู่ในมาตรการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องมีมาตรการหลัก 3 ด้าน คือ 1. ด้านดูแลสถานที่ 2. ด้านการดูแลบุคลากร 3. ด้านการเข้ารับบริการของลูกค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการ โดยจะต้องนำแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข มาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงเลี่ยงการติดเชื้อของผู้ใช้บริการหรือพนักงานผู้ให้บริการก็ดี
 

โดยศูนย์วิจัย RDI มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (Dhurakij Pundit University Research Development and Innovation หรือ DPURDI) ได้ทำการสำรวจในหัวข้อ “ร้านนวด/สปาต้องทำอย่างไร เพื่อให้ผู้ใช้บริการกลับมาใช้บริการอีกครั้ง” ซึ่งได้ทำการสำรวจลูกค้าที่เคยใช้บริการร้านนวด/สปาและผู้ที่สนใจ นวด/สปา โดยผลสำรวจพบว่ามากกว่าร้อยละ 80 จะกลับมาใช้บริการร้านนวด/สปา อีกครั้งถึงแม้ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ยังไม่เป็นศูนย์ นอกจากนี้ยังพบอีกว่า เกือบร้อยละ 50 จะไปใช้บริการในวันแรก ๆ ที่เปิดให้บริการ

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการให้บริการของกลุ่มธุรกิจบริการร้านนวด-สปา ที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจอย่างจริงจังหลังจากรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนก็คือความปลอดภัยด้านสุขอนามัย จากการสำรวจที่เกี่ยวข้องกับมาตรการของรัฐบาลพบว่าสิ่งผู้ใช้บริการให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ  ด้านการเข้ารับบริการของลูกค้า อันดับสอง คือ การดูแลบุคลากร และอันดับสุดท้ายการดูแลสถานที่/ สถานประกอบการ
 

เมื่อพิจารณาในด้านการเข้ารับบริการของลูกค้า พบว่าประเด็นสำคัญ 5 อันดับแรกที่ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญคือ 1) การทำความสะอาด ทั้งอุปกรณ์ในการให้บริการ ได้แก่ ผ้าคลุม ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน 2) ทำความสะอาดจุดที่ลูกค้าทุกคนมีโอกาสสัมผัสร่วมกันได้แก่ กลอนประตู โต๊ะรับแขก ลูกบิด ราวบันได ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และพ่นสเปรย์ยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ 3) จัดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น อ่างล้างมือพร้อมสบู่เจลล้างมือแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยประจำจุดที่ใช้ร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ ห้องอาหาร ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องพักผ่อน บริเวณโซนต้อนรับ 4) สถานประกอบการได้รับการตรวจและผ่านมาตรฐานการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข 5) บรรยากาศดี ผ่อนคลาย สงบ และปลอดภัย

ในขณะที่การดูแลบุคลากร ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) มีการตรวจวัดอุณหภูมิของเจ้าหน้าที่ทุกคนก่อนเริ่มงาน 2) พนักงานแต่งกายสะอาด รัดกุม สวมหน้ากากอนามัย/face shield ตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่ และ 3) พนักงานได้ผ่านการอบรมจากกระทรวงสาธารณสุข
 

สำหรับการเข้ารับบริการของลูกค้า พบว่า ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญด้านนี้มากที่สุด โดยให้ความสำคัญ 5 อันดับแรก ดังนี้ 1) พนักงานจะต้องล้างมือทุกครั้งด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนและหลังการให้บริการ 2) มีการตรวจวัดอุณหภูมิ และซักประวัติผู้เข้ารับบริการก่อนเข้ารับบริการทุกครั้ง 3) การให้บริการนวด/สปาจะใช้ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ 1 ชิ้นต่อ 1 คน 4) เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดจัดเก็บขยะโดยแยกขยะติดเชื้อ เช่น กระดาษชำระ หน้ากากอนามัย โดยเก็บแยกในถุงที่มิดชิด และ 5) ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการนวด/สปา

จะเห็นได้ว่าการลดความเสี่ยงและการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น นอกจะเกิดขึ้นได้จากความระมัดระวังความเคร่งครัดในการใช้ชีวิตของประชาชนแล้ว การปรับตัวของสถานประกอบการก็มีส่วนสำคัญ ดังนั้นการรักษาความปลอดภัยด้านสุขอนามัยที่สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลหรือผลสำรวจตามที่กล่าวมาในข้างต้น จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการให้กลับมาใช้บริการอีกครั้ง

บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 10 มิ.ย. 2563 เวลา : 18:00:28
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:30 am