การตลาด
สกู๊ป ส่องเทรนด์ผู้บริโภคหลังวิกฤตโควิด-19 ''เอ็นไวโร'' ชี้พร้อมกลับสู่ Old Normal


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ขณะนี้มีการประกาศมาตรการผ่อนคลายถึงระยะที่ 5 แล้ว หลังจากนี้ไปก็คงต้องรอลุ้นกันว่าหลังประเทศไทยมีการประกาศมาตรการผ่อนคลายมากขึ้นและเริ่มให้คนต่างชาติบางกลุ่มสามารถเข้ามาในประเทศไทยได้สถานการณ์จะเป็นอย่างไร  การใช้ชีวิตแบบ New Normal จะยังคงอยู่หรือไม่

ทั้งนี้ หากดูสถานการณ์ภาพรวมถือว่าคนไทยยังรักษามาตรฐานการใช้ชีวิตแบบ New Normal ได้เป็นอย่างดี สังเกตได้จากการที่คนส่วนใหญ่ยังคงใส่หน้ากากเมื่อต้องเข้าไปตามแหล่งชุมชนต่างๆ มีการเว้นระยะห่างในการเลือกซื้อสินค้า และชำระเงิน
 
 
น.ส.สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร ประเทศไทย จำกัด บริษัทวิจัยยักษ์ใหญ่ระดับโลก ในเครือบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาของโรคโควิด-19  ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลายคนเรียกกันว่า “New Normal” แม้บางพฤติกรรมผู้บริโภคกลับมาสู่สภาวะปกติเช่นเดิมแล้ว  แต่บางพฤติกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จนทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 
 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ “เอ็นไวโร” มีความสนใจในการทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อนักการตลาด เจ้าของธุรกิจ ผู้บริโภค  และนักจัดกิจกรรมอีเวนต์ ซึ่งหลังจากทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,160 ในกลุ่มประชากรชาย หญิง เพศทางเลือก อายุ 18-65 ปี มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ในกรุงเทพ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้  พบว่ามี 9 เทรนด์ที่น่าจับตามองหลังวิกฤตโควิด-19 ประกอบด้วย
 
1. เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทน experience หรือ ประสบการณ์ที่ผู้บริโภคต้องการสัมผัส เพราะมีผู้บริโภคเพียง15% ที่ได้เข้าร่วมงานอีเวนต์ online ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y ส่วน 85% ที่ไม่เข้าร่วม เพราะไม่เชื่อว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ทดแทนอีเวนต์ onground ได้ โดยผู้บริโภคกว่า 93% คิดว่าอีเวนต์ online ทดแทนอีเวนต์ Onground ไม่ได้
 
2. Online มีศักยภาพ แต่ก็ไม่ใช่แค่ยกกิจกรรมอีเวนต์ มาทำบน ออนไลน์  โดย 12% ของผู้ที่เข้าร่วมอีเวนต์ online กล่าวว่าชอบอีเวนต์ online โดย 88% ไม่ชอบ ซึ่งทำให้เกิดประเด็นที่น่าสนใจว่า ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการ Event Onground มาเป็น online กิจกรรมอีเวนต์ไม่เหมือนการช้อปปิ้งที่ถูก Disrupt ด้วยความสะดวกจาก online เพราะประสบการณ์เป็นสิ่งที่ทดแทนไม่ได้ จึงไม่ได้แปลว่าคอนเสิร์ต on ground จะถูกทดแทนด้วย คอนเสิร์ต online แต่อาจจะถูกทดแทนด้วยกิจกรรมรูปแบบอื่นไปเลย เช่น การเสพ Entertainment แบบใหม่อย่างเกมส์ E-Sport เป็นต้น 
 
 
3. 70% ยังกังวลระลอก 2 จึงยังไม่พร้อมเข้ากิจกรรมอีเวนต์ทันที ขอรออย่างน้อย 6 เดือน จึงทำให้ตอนนี้มีเพียงการท่องเที่ยวในประเทศ และการกินอาหารนอกบ้าน รวมไปถึงการร่วมงานแฟร์ต่างๆ
 
4. จะทำการค้าขาย หรือ กิจกรรมอีเวนต์ ให้พุ่งเป้าไปที่ Gen Z  และ Gen Y เป็นคนนำ  เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่กังวลโควิดระลอก 2 น้อยกว่ากลุ่มอื่น และพร้อมออกมาโลดแล่น ถึงแม้มีสัดส่วนในการออมมากขึ้น ใช้ของฟุ่มเฟือยน้อยลง แต่เป็นกลุ่มที่ไม่ยอมลด ค่าใช้จ่าย ในการกินเที่ยว  เพราะเป็น Generation ที่ต้องการใช้ชีวิตมากกว่าการเก็บออม  ซึ่งกลุ่มGen Z, Gen Y เป็นกลุ่มที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวเร็ว มีการเรียนรู้เสริมทักษะตัวเอง เพื่อให้มีความสามารถหลายด้าน มีแนวโน้มหารายได้ทางออนไลน์มากขึ้น และพร้อมรับความเสี่ยงมากกว่ากลุ่ม Gen X  และ Babyboomer ที่ไม่ต้องการความเสี่ยง 
 
5. การขายสินค้าให้กับ Gen X และ Babyboomer ต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยและมั่นคง เพราะกลุ่มนี้มีความกังวล และไม่ต้องการความเสี่ยง มีสัดส่วนการออมเพื่อสุขภาพ และประกันชีวิตมากขึ้น ดังนั้นการขายเรื่อง ความมั่นคง ความปลอดภัย ไม่ว่าจะประกัน Medical Products (วิตามิน อาหารเสริม) สินค้าอุปโภคบริโภคที่ช่วยฆ่าเชื้อได้หมด ถ้าทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้รู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้ เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ของตนเองละครอบครัว
 
6. ต้องทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกผิดที่จะใช้เงิน 86% ของผู้บริโภคจะซื้อของตามความจำเป็น และประโยชน์การใช้งานมากขึ้น สินค้าฟุ่มเฟือยจึงเป็นสินค้าที่โดนผลกระทบอันดับต้นๆ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคอยู่ในช่วงรู้สึกผิดที่จะใช้จ่าย ดังนั้นต้องทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกผิดที่ใช้เงิน ซึ่งการทำ Promotion ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกประหยัดจากการซื้อสินค้า ทำให้รู้สึกดีจากการได้ประหยัดแทน ที่จะรู้สึกผิดที่ใช้เงิน นักการตลาดควรพิจารณางบการตลาดจากการสร้าง Demand มาทำ Below the Line กระตุ้นให้เกิดการซื้อมากที่สุด ตอนนี้ให้คิดเรื่องกำเงิน มากกว่า กำไร
 
7. อย่ามัวแต่ Focus Online จับตามอง Community Marketplace และ TV Direct ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นคนเดินห้างน้อยลง เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อมากขึ้น จากเดิมก่อนเกิดโรคโควิด-19 การซื้อสินค้าหลักๆ มีอยู่ 5 ช่องทาง แต่ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 7 ช่องทาง หลังโควิด-19 เชื่อว่าการขายสินค้าแบบ Community, Marketplace และ TV Direct ยังคงเป็นช่องทางใหม่มาแรง เพราะผู้บริโภครู้สึกปลอดภัย มั่นคง ในการซื้อสินค้า 
 
 
8. ทัศนคติในการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง และใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ขณะที่มีความอยากรวย และท่องเที่ยวรอบโลกน้อยลง รวมทั้ง มีแนวโน้มที่จะทำอาชีพเสริม และลงทุนมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยกลุ่ม Gen X, Babyboomer เริ่มหันมาพึ่งพาตัวเองโดยทำกับข้าวมากขึ้น ปลูกผักสวนครัวมากขึ้น และทำขายใน Community Marketplace มากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อร้านอาหารแบบมีหน้าร้าน และการมาเดินห้างที่ลดน้อยลง
 
9. Master Class ไม่ได้ Boom อย่างที่คาด เพราะมีเพียง 16% ที่ซื้อคลาส โดยกลุ่ม Gen Y และ Gen X เป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ซื้อคลาสดังกล่าว และสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่รู้สึกคุ้มค่า หรือ ไม่รู้สึกเติมเต็มที่จะต้องจ่ายการเรียนออนไลน์
 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวนักการตลาดควรทำความเข้าใจและวางแผนการตลาดที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันก็หันมาใส่ใจในเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัย หากตอบโจทย์ตรงนี้ได้ยอดขายก็รออยู่ตรงหน้า
 

บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 04 ก.ค. 2563 เวลา : 10:39:45
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 3:40 pm