การตลาด
สกู๊ป ''วิกฤตโควิด -19'' ดัน 10 อาชีพตลาดแรงงานยุค ''Business Disruption'' ขยายตัว


ยังคงต้องปรับตัวกันต่อไปสำหรับภาคธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19  ทั่วโลกยังคงน่าเป็นห่วง  เพราะในแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 แสนคน ที่ระบาดหนักก็เห็นจะเป็นสหรัฐอเมริกา  บราซิล  และอินเดีย

แม้ว่าสถานการณ์ภายในประเทศของไทยในขณะนี้จะยังไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้น  แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บวกกับสถานการณ์ในประเทศยังน่าเป็นห่วง ส่งผลให้ภาคธุรกิจและกลุ่มแรงงานมีการปรับตัว เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ โดยเฉพาะการรับมือเรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงาน  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้เกิดรูปแบบการทำงานวิถีใหม่ในรูปแบบ New Normal  
 
 
 
 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญตลาดแรงงานเชิงนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก  มีความสนใจที่จะทำการสำรวจตลาดแรงงาน  ด้วยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างประมาณ 1,246 คน จากแรงงานในหลายอาชีพว่ามีกลุ่มอาชีพในสายงานใดที่คนทำงานต้องการทำท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของแรงงานในยุคที่เรียกได้ว่า “การหยุดชะงักทางธุรกิจ” หรือ “Business Disruption”   
หลังจากทำการสำรวจเสร็จสิ้น “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” พบว่า  มีกลุ่มอาชีพที่ขยายตัวและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างเห็นได้ชัดมีอยู่ด้วยกัน 10  กลุ่มอาชีพ  ประกอบด้วย 
 
กลุ่มอาชีพที่ 1 กลุ่มอาชีพอิสระต่างๆ  คิดเป็นอัตราการเติบโต 12.76% เพราะจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คนทำงานประจำหันมาให้ความสนใจทำงานเสริมกันมากขึ้น เพื่อหารายได้เพิ่มเติมจากช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 
 
ทั้งนี้  เห็นได้จากตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนที่ผ่านมา  หลายองค์กรมีการปรับรูปแบบการทำงานเป็น Work from Home ทำให้มีการจัดสรรเวลาจากการทำงานประจำมาทำงานที่เป็นอาชีพอิสระกันมาขึ้น  โดยการนำทักษะความรู้ที่ตัวเองมีมาต่อยอดสร้างเป็นรายได้ควบคู่ไปกับรายได้ประจำ ขณะเดียวกันผู้ประกอบอาชีพอิสระก็มีการหางานอิสระระยะสั้นประเภทต่างๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติม
 
กลุ่มอาชีพที่ 2 ที่มีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด คือ กลุ่มอาชีพด้านโลจิสติกส์, ซัพพลายเชนส์ และการขนส่งเดลิเวอรี่ มีอัตราการเติบโตคิดเป็น 10.32%  เพราะจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่เกิดขึ้น  ทำให้คนไทยหันไปช้อปปิ้งผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มอาชีพด้านโลจิสติกส์, ซัพพลายเชนส์ และการขนส่งเดลิเวอรี่ มีการเติบโตสอดคล้องไปกับการซื้อสินค้าออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ  ภายหลังภาครัฐมีการประกาศล็อคดาวน์ควบคุมการออกจากบ้าน  และการเปิดให้บริการของบรรดาห้างร้านต่างๆ 
 
กลุ่มอาชีพที่ 3  คือ กลุ่มอาชีพงานที่ใช้ภาษาต่างประเทศ คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 10.29%  โดยเฉพาะภาษาที่ 2 และ 3 อย่างเช่น  ภาษาอังกฤษ  ภาษาจีน  และภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น นับเป็นโอกาสกับอาชีพนี้ที่จะนำความรู้มาใช้ในการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ  ซึ่งนอกจากจะทำงานประจำแล้วยังสามารถต่อยอดรายได้เสริมได้อีกด้วย
 
 
 
 
กลุ่มอาชีพที่ 4 อาชีพขายสินค้าออนไลน์  จากวิกฤตที่เกิดขึ้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพค้าขายออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับอานิสงค์จากสถานการณ์นี้  นอกจากนี้ ยังมีช่องทางที่หลากหลายให้สามารถเลือกซื้อสินค้าไม่ว่าจะโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ค (Facebook)  อินสตาแกรม (IG) และไลน์ (LINE)  รวมทั้งแอปพลิเคชันในกลุ่ม E-Market Place ต่างๆ ถือว่าเป็นช่องทางในการซื้อสินค้าโดยไม่ต้องไปถึงร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า แนวโน้มที่ดีดังกล่าวทำให้กลุ่มอาชีพนี้มีอัตราการเติบโตที่  9.61%
 
กลุ่มอาชีพที่ 5 คือ กลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์คนอยู่บ้าน คิดเป็น 8.82%  โดยเฉพาะกลุ่มงานบริการที่บ้าน (Service at home)  เนื่องจากในช่วงที่คนทำงานอยู่ที่บ้าน  นอกจากทำงานแล้วทำให้มีความต้องการบริการต่างๆ ที่บ้านเพิ่มมากขึ้น อาทิ งานซ่อมแซมบ้าน งานบริการตัดผม งานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการออกกำลังกาย สัตว์เลี้ยง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
 
กลุ่มอาชีพที่ 6 คือ กลุ่มงานในการให้บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ คิดเป็น 7.35% โดยรูปแบบการทำงานมีทั้งทางโทรศัพท์ และการตอบทางช่องทางแชท ทำให้การให้บริการและตอบคำถามลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มที่ใช้งานมากสุดในช่วงนี้ก็คือ ช่องทางร้านค้าออนไลน์ 
 
กลุ่มอาชีพอันดับที่ 7  เป็นงานกลุ่มสุขภาพและยา คิดเป็น 5.88%  ซึ่งรวมถึงกลุ่มงานทางการแพทย์  หมอ พยาบาล นักกายภาพบำบัด  และงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ ที่สอดรับกับทิศทางของสังคมสูงอายุที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันด้วย
 
กลุ่มอาชีพที่ 8  กลุ่มอาชีพงานสอนในรูปแบบอี-เลิร์นนิ่ง  (E-Learning) คิดเป็น 5.63% ปัจจุบันมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตปกติใหม่ (New Normal) เพราะทำให้สะดวกและสามารถเสริมทักษะความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยการเรียนการสอนผ่านอุปกรณ์ไอทีและแพลตฟอร์มต่างๆ ได้หลากหลายอีกด้วย
 
 
 
 
กลุ่มอาชีพที่ 9  คือ งานด้านไอที (Information Technology)  คิดเป็น 4.41% อาชีพนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีความต้องการสูง เนื่องจากต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง  กลุ่มนักพัฒนาแอปพลิเคชั่น งานทางด้านดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์  กลุ่มงานทางด้านเน็ตเวิร์คและงานไอทีซัพพอร์ต  
 
ปิดท้ายกันที่กลุ่มอาชีพที่ 10  คือ กลุ่มงานด้านการตลาดทั้งออนไลน์ออฟไลน์ คิดเป็น 4.39% กลุ่มอาชีพนี้ คือ เป็นส่วนงานที่ต้องใช้ทักษะ และใช้ความรู้ความเข้าใจในการสื่อสารทางการตลาด  โดยเฉพาะการสื่อสารในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่เกิดขึ้น  เนื่องจากต้องสื่อสารข่าวสารต่างๆ ที่ออกมาด้วยความเข้าใจด้วยวิธีการต่างๆ
 
จากผลการวิจัยและผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าหลายกลุ่มอาชีพสามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพหลักได้ เพียงแต่ต้องดึงศักยภาพของตัวเองออกมา 
 

LastUpdate 11/07/2563 11:40:38 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:04 am