การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ไทยเดินหน้าขจัดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ ดูแลผู้ป่วยผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


ในระยะเวลา 15 ปี ที่ผ่านมา ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นกลไกหลัก กระจายการเข้าถึงการรักษาและยาต้านไวรัสอย่างทั่วถึง

“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เข้มแข็ง สิทธิประโยชน์ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร ประกอบกับการที่ไทยมีระบบสุขภาพที่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆได้ดี ทำให้เราสามารถตอบสนองต่อการระบาดของโรคต่างๆได้ทันท่วงที รวมถึงเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์” นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในเวทีเสวนาออนไลน์ "Achieving the end of AIDS and realizing UHC by 2030: what will it take?" หรือ “ต้องทำอย่างไร? ให้บรรลุเป้าหมายหยุดยั้งโรคเอดส์ และสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จ ภายในปี 2573” จัดโดยมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ (Bill and Melinda Gates Foundation) เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา
 

นพ.รัฐพล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศไทย ซึ่งดำเนินนโยบายหยุดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังให้สิทธิประโยชน์การรักษาโรคแก่ประชาชนผ่านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ประเทศไทยมีกองทุนสุขภาพไทย 3 กองทุน ครอบคลุมประชากรรวม 99.8%  ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” ครอบคลุมประชากรไทยกว่า 49 ล้านคน

กองทุนประกันสังคม ครอบคลุมแรงงาน 10 ล้านคน และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ครอบคลุมข้าราชการและครอบครัวรวม 5 ล้านคน โดยทุกกองทุนให้สิทธิประโยชน์การตรวจหาเชื้อเอชไอวี บริการยาต้านไวรัส และการรักษาโรคเอดส์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

กว่าจะมีวันนี้ ต้องมีกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและความร่วมมือข้ามภาคส่วนที่เข้มแข็ง เพื่อผลักดันให้เกิดสิทธิประโยชน์ดังกล่าว

นพ.รัฐพล เล่าย้อนกลับไปในปี 2535 รัฐบาลไทยริเริ่มทำนโยบายป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างเข้มข้น ด้วยการรณณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงและประชาชนใช้ถุงยางอนามัย ผ่านโครงการ “ถุงยางอนามัย 100%”

จนกระทั่งในปี 2549 รัฐบาลไทยประกาศบรรจุบริการยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นหนึ่งในชุดสิทธิประโยชน์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

จึงเริ่มมีการให้ยาต้านไวรัสฟรีกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในระยะแรกได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย (The Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria) ต่อมาจึงใช้งบประมาณรายปีของรัฐบาลสนับสนุนบริการ

นอกจากนั้น ยังจัดตั้งคลินิกดูแลผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาล และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ติดเชื้อในการรักษา

นพ.รัฐพล กล่าวว่าประเทศไทยได้ขับเคลื่อนผ่าน “แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573” โดยตั้งเป้าลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกิน 1,000 รายต่อปี รวมทั้งลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เหลือไม่เกิน 4,000 รายต่อปี และขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ โดยทุกขั้นตอนของการทำงานที่ผ่านมา ได้สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย และองค์กรภาคประชาสังคม 

“การตอบสนองต่อเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ มิใช่เป็นเพียงการบรรจุสิทธิประโยชน์ให้เสร็จสิ้นเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการพัฒนาปรับปรุงระบบการเงินการคลัง การบริหารทรัพยากรให้เพียงพอ เพื่อให้การให้บริการมีประสิทธิภาพและครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน” นพ.รัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับสถานการณ์โรคเอดส์ คาดการณ์ว่าไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 480,000 คนในปี 2561 กำลังรับยาต้านไวรัส 358,606 คน มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอชไอวี 18,000 คน และติดเชื้อรายใหม่ 6,400 คน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.ค. 2563 เวลา : 19:42:12
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 1:42 am