การตลาด
สกู๊ป ''ฟู้ดสตรีท'' ขาขึ้น คาดปี 64 โตพุ่ง 5.3% ค้าปลีกตบเท้าต้อนขึ้นห้าง


ไทยถือเป็นประเทศเดียวในโลกใบนี้ก็ว่าได้ที่ไม่ว่าจะหิวเวลาไหนก็มีอาหารให้รับประทานอยู่ตลอดเวลา จากความโดดเด่นในด้านดังกล่าว ประเทศไทยจึงถือได้ว่าเป็นสวรรค์ทางด้านอาหารของเหล่าบรรดานักชิมทั่วโลก อยากจะรับประทานอาหารแบบไหนหรูเลิศ หรือติดดินประเทศไทยก็มีพร้อมเสิร์ฟหมด โดยเฉพาะอาหารติดดิน หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า "ฟู้ดสตรีท" 

ด้วยเสน่ห์ของอาหารประเภท "ฟู้ดสตรีท" ที่สามารถหารับประทานได้ตลอด 24 ชั่วโมง แถมยังมีรสชาติเลิศรส เพราะบางสาขาเปิดให้บริการมาอย่างยาวนานหลายช่วงอายุคน บางร้านมีกิมมิกใหม่ๆ ในการขายอาหารเลยทำให้เหล่าบรรดาห้างค้าปลีกต่างรุมจีบร้านอาหารประเภทขึ้นห้าง เพื่อเรียกลูกค้า เนื่องจากร้านอาหารถือเป็นแม่เหล็กสำคัญในการเรียกลูกค้าเข้าห้างค้าปลีก 
 
 
cr photo : pattata mail
 
จากผลการสำรวจของ ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ระบุว่า ศูนย์อาหารหรือฟู้ดคอร์ทได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเปิดห้างสรรพสินค้าในการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า และเป็นหนึ่งในแม่เหล็กที่ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ 
 
เหตุและผลดังกล่าวจึงทำให้ภาพของร้านอาหาร และศูนย์อาหารเต็มไปด้วยพนักงานออฟฟิศในช่วงพักกลางวัน จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นนักเรียน และนักศึกษาที่ใช้เวลาในศูนย์อาหารช่วงเวลาหลังเลิกเรียน เพื่อรับประทานอาหารและทำการบ้าน เนื่องจากศูนย์อาหารมักจะขายอาหารที่ทำได้อย่างรวดเร็วและราคาไม่แพง 
 
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมศูนย์อาหารจึงเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายอาชีพที่แวะเวียนเข้ามาใช้บริการ เพราะศูนย์อาหารเป็นจุดหมายที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภคที่มองหาตัวเลือกทางด้านอาหารที่มีราคาย่อมเยาว์ นอกเหนือไปจากร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า
 
จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมารับระทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น และต้องการความสะดวกสบายในขณะเดียวกัน จึงทำให้ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร หรือเดลิเวอรี่  มีการขยายตัวในทิศทางที่ดีตามไปด้วย โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  คนไทยเริ่มหันมาสั่งซื้ออาหารผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  
 
น.ส.จริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่ผู้ประกอบการศูนย์อาหารทั่วไปสามารถรักษาระดับลูกค้าไว้ได้ ด้วยการปรับปรุงบรรยากาศและการบริการของศูนย์อาหารให้ดีขึ้น  แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ยังคงมุ่งเดินหน้าที่จะพัฒนาบริการ  เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างให้ลูกค้าได้สัมผัส ด้วยการปล่อยเช่าพื้นที่ศูนย์อาหารให้กับร้านอาหารสตรีทฟู้ดที่มีชื่อเสียง เพื่อดึงดูดลูกค้า 
 
ทั้งนี้ ในฐานะที่กรุงเทพฯ คือ เมืองสตรีทฟู้ดชั้นนำของโลกแห่งหนึ่ง ทำให้ปัจจุบันมูลค่าธุรกิจอาหารฟู้ดสตรีทของประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจากข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์ ระบุว่า มูลค่าตลาดรวมอาหารสตรีทฟู้ดของประเทศไทยในปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่าอยู่ที่ 276,000 ล้านบาท และในปี 2564 ที่จะถึงนี้คาดว่ามูลค่าอาหารฟู้ดสตรีทของไทยจะมีการขยายตัวเพิ่มเป็น 340,000 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 5.3%  
 
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดอาหารสตรีทฟู้ดในประเทศไทยจะมีอัตราเติบโตที่ดี แต่จากการที่ร้านอาหารเหล่านี้มักขาดการบริหารแบบมืออาชีพ  จึงทำให้อาจประสบกับปัญหาในการเข้าถึงลูกค้า เนื่องจากที่ตั้งร้านอาจอยู่ในทำเลที่เป็นรองและมีเวลาเปิดปิดร้านที่ไม่เหมือนกัน      
 
นอกจากนี้  ซีบีอาร์อี ยังระบุอีกว่า การรวบรวมร้านอาหารสตรีทฟู้ดให้มาอยู่ในรูปแบบศูนย์อาหาร อาจเป็นอีกหนึ่งทางรอดของผู้ประกอบการร้านอาหารฟู้ดสตรีท  ขณะเดียวกันก็เป็นอีกหนึ่งทางรอดของห้างค้าปลีก ซึ่งจะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เนื่องจากตัวเจ้าของโครงการค้าปลีกเองก็สามารถดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการได้มากขึ้นหลังจากนำร้านอาหารฟู้ดสตรีทเข้ามาเปิดให้บริการ ขณะที่ร้านอาหารสตรีทฟู้ดเองก็สามารถขายสินค้าได้มากขึ้นในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าเดิม   
 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่ของไทยอย่างกลุ่มเซ็นทรัล ที่ออกมาเปิดตัว “อีทไทย (Eathai)” ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่  ในปี 2557  เพื่อยกมาตรฐานศูนย์อาหารให้ขึ้นมาอยู่ในระดับบน  ในส่วนของ “อีทไทย” ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ นั้น จะมีร้านอาหารไทยจำนวน 56 ร้าน ในแต่ล่ะร้านอาหารจะมีการคัดสรรในด้านของร้านอาหารที่มีชื่อเสียงไปจนถึงร้านอาหารสตรีทฟู้ดชื่อดังจาก 4 ภาคทั่วประเทศ   
 
 
หลังจากนั้นต่อมาในปี 2561 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอ็น ก็ได้มีการเปิดตัว "ฟู้ดเวิลด์ (foodworld)" ที่เซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมเมนูอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์กว่า 600 รายการ ทั้งจากร้านอาหารที่มีชื่อเสียงและร้านอาหารสตรีทฟู้ด เพื่อดึงลูกค้าเข้าไปใช้บริการในบริเวณชั้น 7 ของศูนย์การค้า 
 
 
ในขณะเดียวกันกลุ่มเดอะมอลล์ ก็ได้มีการเปิดตัว "กูร์เมต์ อีทส์ (Gourmet Eats)" ที่เดอะมอลล์งามวงศ์วาน  โดยการระดมร้านอาหารที่ติดอันดับในมิชลิน ไกด์ เมื่อเดือนก.ค. 2562 และในเดือนก.ย. 2562 มาไว้ใน กูร์เมต์  อีทส์  เพื่อดึงความสนใจของลูกค้า  ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการก็ได้รับผลการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี 
 
 
เช่นเดียวกับศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์  ที่ได้ร่วมมือกับเอ็ม บี เค  ในการเปิดให้บริการศูนย์อาหาร “ฟู้ดเลเจนด์ส” ระดมร้านอาหารสตรีทฟู้ดที่มีชื่อเสียงกว่า 17 ร้าน  จากสามย่าน สะพานเหลือง และเยาวราช มาเปิดให้บริการ ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการก็ได้รับผลการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีเช่นกัน 
 
ปิดท้ายกันที่ แอม ไชน่าทาวน์  (I'm Chinatown) ห้างค้าปลีกน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการในย่านเยาวราช  ที่นำอาหารสตรีทฟู้ดที่มีชื่อเสียงจากร้านทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะจากย่านเยาวราชเข้ามาเปิดที่บริเวณชั้น G และชั้น 2 เพื่อดึงลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ
 
อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19  ส่งผลให้ร้านอาหารทั้งแบรนด์ดังและสตรีทฟู้ดต้องออกมาปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยให้สูงขึ้น  เพื่อให้ลูกค้าไว้วางใจในความปลอดภัย  ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้เป็นที่น่าจับตามองว่า ผู้ประกอบการจะปรับตัวกันอย่างไร 
 
แต่สำหรับแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี นั้นคาดการณ์ว่า ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารจะมีการออกแบบผังที่นั่งใหม่ การสร้างบรรยากาศใหม่ การจัดพื้นที่ส่วนตัวสำหรับลูกค้าแบบกลุ่ม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่หันมาดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) หลังเกิดโรคโควิด-19
 

LastUpdate 01/08/2563 12:27:27 โดย : acnews
09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 2:33 am