แบงก์-นอนแบงก์
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง ส่งออกเดือน ก.ย. 20 หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากปัจจัยฐานต่ำ


Key summary

สินค้าส่งออกสำคัญในภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงในช่วงเดือนกันยายน โดยเฉพาะ การส่งออกยานยนต์ เคมีภัณฑ์และพลาสติก และเครื่องจักรกล ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหาร การอยู่อาศัยและทำงานที่บ้าน และการป้องกันการระบาดยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง

มูลค่าส่งออกที่หดตัวน้อยลง ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากฐานต่ำช่วงปลายปี 2019 ที่สงครามการค้ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณามูลค่าส่งออกแบบหักผลทางฤดูกาล พบว่าการส่งออกยังมีทิศทางฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามที่เคยคาดไว้

การส่งออกทองคำที่ขยายตัวอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนสำคัญในการพยุงระดับมูลค่าส่งออกปี 2020 ให้ไม่หดตัวลึกตามที่เคยคาดไว้ ดังนั้น EIC จึงปรับคาดการณ์ส่งออกปี 2020 เป็น -8.0% (เดิมคาด -10.4%) ขณะที่ในปี 2021 คาดว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วง 4-5% ตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
 
Key points

มูลค่าส่งออกรวมเดือนกันยายน 2020 หดตัวชะลอลงที่ -3.9%YOY จาก -7.9%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกรวมในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2020 หดตัวที่ -7.3%YOY แต่หากหักอาวุธและทองคำ การส่งออก
จะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -10.6%YOY

สินค้าส่งออกสำคัญในภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง โดยเฉพาะการส่งออกยานยนต์ เคมีภัณฑ์และพลาสติก และเครื่องจักรกล ในขณะที่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหาร การอยู่อาศัยและทำงานที่บ้าน และการป้องกันการระบาดยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง (รูปที่ 1)

การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบหดตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็น -15.3%YOY หลังจากหดตัว -28.7%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ซึ่งตลาดสำคัญที่หดตัว ได้แก่ จีน (-31.5%YOY) เม็กซิโก (-15.5%YOY) และเวียดนาม (-3.3%YOY)
 
การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังมีการหดตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหดตัวเร่งขึ้นที่ -33.5%YOY
 
มูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ ยังคงมีการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ สิ่งทอ (-17.8%YOY) แผงวงจรไฟฟ้า (-7.0%YOY) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-6.9%YOY)
 
อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์พลิกกลับมาขยายตัวที่ 11.6%YOY หลังจากหดตัว -2.6%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (14.6%YOY) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (34.1%YOY) และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์และส่วนประกอบ (27.2%YOY)
 
การส่งออกสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ 9.8%YOY สินค้าเกษตรที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (29.5%YOY) ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (91.3%YOY) และสุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง (287.3%YOY)
 
สินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับอาหาร การอยู่อาศัยและทำงานที่บ้าน และการป้องกันบางรายการสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ ตู้เย็นและส่วนประกอบ (29.7%YOY) เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ (26.3%YOY) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (25.2%YOY) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (2.6%YOY) และผลิตภัณฑ์ยาง (21.2%YOY) โดยถุงมือยางขยายตัวถึง 154.9%YOY
 
รูปที่ 1 : การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่หดตัวน้อยลง ในขณะที่สินค้าประเภทอาหาร  การอยู่อาศัย การทำงานที่บ้าน และถุงมือยาง ขยายตัวต่อเนื่อง 
 
 
 
หมายเหตุ : *การส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่รวมการส่งกลับอาวุธในปี 2019 และ 2020
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 2 : สินค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยบวกและลบต่อการส่งออกในเดือนกันยายน 2020
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลียขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญอื่นมีการหดตัวในอัตราน้อยลง

- การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 19.7%YOY หลังจากขยายตัว 15.2%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
 
- การส่งออกไปตลาดจีนพลิกกลับมาขยายตัวที่ 6.9%YOY หลังจากหดตัว -4.0%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเม็ดพลาสติก
 
- การส่งออกไปออสเตรเลียขยายตัวที่ 4.1%YOY  หลังจากหดตัว -16.6%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าหลักที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง
 
- การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวในอัตราชะลอลงที่ -1.9%YOY หลังจากหดตัว -16.6%YOY ในเดือนสิงหาคม โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์พลาสติก
 
- การส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ -15.6%YOY หลังจากหดตัวอยู่ที่ -16.5%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าหลักที่หดตัวคือ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับและเคมีภัณฑ์
 
- การส่งออกไปสหภาพยุโรป 15 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ในอัตราชะลอลงที่ -4.4%YOY หลังจากหดตัวที่ -16.9%YOY ในเดือนก่อนหน้า  สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า
 
- การส่งออกไปตลาด CLMV หดตัวชะลอลงที่ -4.8%YOY หลังจากหดตัวที่ -9.3%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม

ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนกันยายนหดตัวชะลอลงเหลือ -9.1%YOY หลังจากหดตัว -19.7%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยการนำเข้าสินค้าในทุกหมวดยังคงหดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-12.6%YOY) หมวดสินค้าเชื้อเพลิง (-3.8%YOY) สินค้าทุน (-6.7%YOY) สินค้าอุปโภคบริโภค (-11.7%YOY) และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-23.1%YOY) ซึ่งสะท้อนว่าอุปสงค์ในประเทศ และการลงทุนยังคงซบเซา สำหรับมูลค่าการนำเข้าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีหดตัวที่ -14.6%YOY

* Implication

มูลค่าส่งออกที่หดตัวน้อยลง ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานต่ำในช่วงปลายปี 2019 แต่หากพิจารณาระดับมูลค่าส่งออก พบว่ายังมีทิศทางฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปตามที่เคยคาดไว้ โดยจากตัวเลขส่งออกหักทองคำเดือนกันยายนที่หดตัว -3.7%YOY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -14.3%YOY ทำให้ดูเหมือนว่าการส่งออกมีการฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว อย่างไรก็ดี หากพิจารณาฐานการส่งออกในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2019 (รูปที่ 3 ซ้าย) พบว่ามีการปรับลดลงเนื่องจากเป็นช่วงที่สงครามการค้ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้น (สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมกับสินค้าจีนมูลค่า 1.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 1 กันยายน 2019) จึงทำให้อัตราหดตัวแบบ %YOY จึงปรับดีขึ้น นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาระดับมูลค่าส่งออกที่หักผลทางฤดูกาลแล้ว ก็พบว่ามูลค่าส่งออกปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย (+1.5%MoM_sa) สะท้อนว่าการส่งออกยังมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกที่มีการฟื้นตัวชะลอลงในช่วงหลัง (รูปที่ 3 ขวา) เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มหมดอายุหรือมีขนาดเล็กลง ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่กลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงผลของตลาดแรงงานที่ซบเซาและการปิดกิจการที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
 
รูปที่ 3 : การส่งออกไทยยังมีทิศทางฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกที่มีการฟื้นตัวชะลอลงในช่วงหลัง
 
 

 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ OECD และ CEIC
 
EIC ปรับคาดการณ์มูลค่าส่งออกทั้งปี 2020 เป็นหดตัวที่ -8.0% จากเดิมคาด -10.4% ตามการขยายตัวในระดับสูงของการส่งออกทองคำ โดยในช่วง 9 เดือนแรก ส่งออกทองคำขยายตัวถึง 88.8%YOY จึงมีส่วนสำคัญในการพยุงตัวเลขส่งออกไม่ให้หดตัวลึกเท่ากับที่เคยคาดไว้ โดยหากพิจารณามูลค่าส่งออกหักทองคำและอาวุธที่สะท้อนภาพการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจจริง พบว่าในช่วง 9 เดือนแรก มูลค่าหดตัวที่ -10.6%YOY ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่ EIC ได้คาดการณ์ไว้ ดังนั้น การปรับประมาณการในครั้งนี้ จึงเป็นผลจากทองคำเป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าจะไม่กระทบต่อประมาณการ GDP ที่ EIC คาดไว้ที่ -7.8% ในปี 2020 เนื่องจากการส่งออกทองคำไม่ถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (value added) จึงไม่ถูกนับใน GDP

EIC คาดแนวโน้มการส่งออกไทยปี 2021 จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะกลับมาขยายตัวได้ที่ประมาณ 4-5% จากคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF (รูป 4 ซ้าย) พบว่าประเทศสำคัญส่วนใหญ่จะมีการขยายตัวในปี 2021 ที่น้อยกว่าการหดตัวในปี 2020 มีเพียงแค่จีนและประเทศกลุ่มอาเซียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่า สะท้อนว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าไทยส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และหากพิจารณาด้านปริมาณการค้าโลก (รูป 4 ขวา) WTO ได้คาดไว้ว่าปริมาณการค้าโลกในปี 2021 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากอัตราเติบโตปี 2021 ที่ต่ำกว่าอัตราหดตัวของปีนี้ (7.2% vs -9.2%) ด้วยเหตุนี้ EIC จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2021 จะกลับมาขยายตัวได้แต่จะเป็นการขยายตัวในระดับไม่สูงนักที่ประมาณ 4-5% 
 
รูปที่ 4 : การส่งออกไทยปี 2021 มีแนวโน้มเติบโตอย่างช้า ๆ ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และภาวะการค้าโลกที่ฟื้นตัวช้าเช่นกัน
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ WTO และ IMF WEO (ตุลาคม 2020)

สำหรับความเสี่ยงต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า ได้แก่

นโยบายการค้าหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2020 โดยผู้ท้าชิงทั้งสองได้แก่ Trump และ Biden มีนโยบายที่ค่อนข้างแตกต่างกันในหลายประเด็น ซึ่งในประเด็นการค้าระหว่างประเทศ หาก Trump ชนะการเลือกตั้ง คาดว่าความขัดแย้งกับจีนก็จะยังมีต่อเนื่องหรืออาจเพิ่มขึ้น แต่หาก Biden ได้ดำรงตำแหน่ง ความขัดแย้งด้านการใช้ภาษีนำเข้า (Tariff) อาจลดลง โดยถึงแม้ทาง Biden มีท่าทีจะไม่กลับไปประนีประนอมกับจีนได้มากเท่ากับในช่วงก่อนที่ Trump เข้ามาเป็นประธานาธิบดี แต่จุดยืนก็น่าจะไม่แข็งกร้าวเท่ากับ Trump อีกทั้ง Biden ยังต้องการ
จับมือกับประเทศพันธมิตรในยุโรปเพื่อกดดันจีนแทนการใช้ภาษีนำเข้า จึงน่าจะมีท่าทีประนีประนอม
มากขึ้นกับประเทศกลุ่มยุโรป นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ Biden จะนำสหรัฐฯ กลับไปเจรจา CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือ Trans-Pacific Partnership (TPP) อีกครั้ง ดังนั้น การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ซึ่งจะกำหนดทิศทางการค้าของโลกในระยะถัดไป
 
การกลับมาระบาดอีกระลอกของ COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเนื่อง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และกระทบต่อเนื่องมายังการส่งออกไทยในลำดับต่อมา นอกจากนี้ ล่าสุดการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ทำให้ต้องมีการปิดด่านชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา ก็อาจส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนของไทยได้เพิ่มเติม
 
ความเสี่ยงต่อการส่งออกในระยะปานกลางจากกระแสการจัดสรรห่วงโซ่อุปทานใหม่ (supply chain rearrangement) โดยจากเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น ทำให้การผลิตเพื่อตอบสนองผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปเป็นแบบภูมิภาคาภิวัฒน์ (Regionalization) และห่วงโซ่อุปทานก็จะมีขนาดสั้นลง (Shortened supply chain) ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวอาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของการส่งออกไทยได้

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ต.ค. 2563 เวลา : 09:44:02
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 2:26 am