การตลาด
สกู๊ป ''สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต กรุงเทพ'' ปักหมุดเจาะ ''ลูกค้าชาวกรุง - แม่ค้าหิ้ว'' ประคองรายได้


ได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ เหมือนกันสำหรับ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ " เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักที่วางไว้ในช่วงแรกเป็นลูกค้านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถึง 60%  ที่เหลืออีก 40% เป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย  ซึ่งหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา  ทำให้ยอดขายของ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ "  หายไปพอสมควร เนื่องจากประเทศไทยมีการปิดน่านฟ้าห้ามมิให้เดินทางข้ามประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ซึ่งในส่วนของต่างประเทศขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ 

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมของประเทศไทยจะดีขึ้น มีการติดเชื้อภายในประเทศบ้างเล็กน้อย และล่าสุดก็ได้มีการอนุญาตให้กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบ Special Tourist VISA (STV)  สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา  ซึ่งหลังจากเข้าประเทศมาก็ต้องมีการตรวจเชื้อซ้ำ  พร้อมกับมีการกักตัว 14 วัน ก่อนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ ของไทยได้
 
แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น แต่รูปแบบการดำเนินธุรกิจของ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ" ก็ยังคงต้องมีการปรับตัว  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  เช่น จากเดิมเน้นเจาะกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยเป็นหลัก ก็เปลี่ยนมาเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น  รวมไปถึงการเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (Expat) เพื่อสร้างรายได้ชดเชยในส่วนที่หายไป
 
 
นายไมเคิล ถัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด ผู้ดูแลโครงการสยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ  กล่าวว่า  การออกมาปรับแผนการดำเนินงานดังกล่าว  ด้วยการหันมาเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้น  เบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้กลยุทธ์ดังกล่าวในการทำการตลาดต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 2 ปี  จนกว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัว  และการเดินทางทั่วโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ   
 
สำหรับกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ" จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ การโฟกัสกลุ่มลูกค้าชาวกรุงเทพฯ  ซึ่งปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 12 ล้านคน   ขณะเดียวกัน ก็จะขยายการทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดใกล้เคียง  โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  ซึ่งประกอบไปด้วย ฉะเชิงทรา  ชลบุรี   ศรีราชา และระยอง  เป็นต้น 
 
นายไมเคิล  กล่าวต่อว่า  การหันมาโฟกัสกลุ่มลูกค้าชาวกรุงเทพฯ และจังหวัดในกลุ่มอีอีซี  เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง  ซึ่งกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้เจาะกลุ่มเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ คือ เร่งสร้างการรับรู้แบรนด์ของ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ " ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านการสื่อสารเชิงรุกเจาะทุกกลุ่มเป้าหมาย  และอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดี  คือ  การจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยกิจกรรม  "IlluminationArt”  ภายใต้ในธีม “Illumination Spectrum" พร้อมเปิดตัวแคมเปญ “IlluminationYear End Sale” เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย. จนถึงกลางเดือนม.ค.2564
 
 
หลังจากออกมาทำกิจกรรมดังกล่าว “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ " คาดว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 20% จากปกติวันหยุดจะมีลูกค้าเข้าใช้บริการต่อวันอยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 คน  ขณะที่วันธรรมดาจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อวันที่ประมาณ  4,000 คน ซึ่งจากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ " คาดว่าจะมียอดจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 10-15%  หรือมีอัตราเฉลี่ยการใช้จ่ายต่อคนมากกว่า 2,000 บาท
 
นอกจากจะให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายแล้ว ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ต่อเนื่อง 57’ ไตรมาสแรกปี 2564  “สยาม พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ” ก็มีแผนที่จะเร่งเปิดร้านค้าแบรนด์ต่างๆ เพิ่มอีก 32 ร้าน  ในจำนวนดังกล่าวเป็นร้านประเภทลักชัวรีแบรนด์ 3-4 แบรนด์  อินเตอร์เนชั่นแนล-โลคัล และไลฟ์สไตล์แบรนด์  ซึ่งจากการเพิ่มจำนวนแบรนด์ร้านค้าดังกล่าว จะทำให้ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ "  มีร้านค้าแบรนด์ชั้นนำเปิดให้บริการมากถึง 300 แบรนด์ ภายในต้นปี 2564 
 
ในส่วนของเดือนพ.ย. นี้ “สยาม พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ” จะมีไฮไลท์แบรนด์ Karl Lagerfeld และ Fred Perry เปิดในรูปแบบเอาท์เล็ตแห่งแรกของเมืองไทย เสริมทัพแบรนด์ที่เปิดในรูปแบบเอาท์เล็ตแห่งแรก ไม่ว่าจะเป็น Balenciaga, Burberry, Salvatore Ferragamo หรือ Breitling ซึ่งราคาถูกกว่าช็อปในเมือง! เป็นจุดขายดึงลูกค้าสามารถซื้อสินค้าพรีเมียมในราคาเอาท์เล็ต บางชิ้นเป็นรุ่นเดียวกับที่วางขายในช็อป บางชิ้นเป็นสินค้า Made for Outlet โดยเฉพาะ
 
นายไมเคิล กล่าวอีกว่า  แม้ว่าจำนวนลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายใน “สยาม พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ” จะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้  จากเดิมคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการประมาณ 10,000 คนต่อวัน แต่หากไปดูที่การใช้จ่ายต่อคนถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูงเกินคาด  โดยมีอัตราเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ประมาณ  4,000-5,000 บาทต่อครั้ง  จากเดิมคาดการณ์ว่าจะมีการใช้จ่ายต่อคนอยู่ที่ประมาณ  1,000 บาทต่อครั้งเท่านั้น
 
 
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างที่ “สยาม พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ” พบในตอนนี้ คือ กลุ่มตลาดหิ้ว และโฮลเซล (ขายส่ง) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 10% กลุ่มดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างยอดขายให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ  เพราะบางรายมียอดใช้จ่ายสูงถึง  3-4 แสนบาทต่อคนต่อครั้ง  ส่งผลให้ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มนี้มีอัตราส่วนการสร้างยอดขายให้กับ “สยาม พรีเมี่ยมเอาท์เล็ต กรุงเทพ”  มากถึง  60% เลยทีเดียว
 
นายไมเคิล กล่าวปิดท้ายว่า นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทต้องเร่งเติมสินค้าแบรนด์ใหม่ๆ รองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และกลุ่มลูกค้าแฟนคลับ  ซึ่งคนกลุ่มนี้ตัดสินใจมาช้อปมาโดยไม่รอโปรโมชั่น  ซึ่งหากมองไปที่ประเทศอื่นๆ ที่ไซม่อน กรุ๊ป เข้าไปลงทุนธุรกิจเอาท์เล็ต ไม่ค่อยมีกลุ่มเเม่ค้าตลาดหิ้วเพื่อนำไปขายต่อผ่านโซเชียลมีเดีย จึงถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและท้าทายสำหรับการทำธุรกิจในประเทศไทย 
 

LastUpdate 31/10/2563 11:26:35 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:57 am