การตลาด
สกู๊ป ''อุตสาหกรรมโฆษณา'' 11 เดือน ยัง ''ติดลบ'' 12% ''สื่อโรงหนัง'' แชมป์ยอดวูบ


แม้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาเดือน พ.ย.ทุกสื่อจะยังติดลบตัวแดง  ส่งผลให้ภาพรวมมีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 6.12% และภาพรวม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ขยายตัวติดลบอยู่ที่ประมาณ 12.96% แต่การใช้สื่อโฆษณาของเดือน พ.ย. ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น  เนื่องจากปลายปีเป็นช่วงของการจับจ่ายใช้สอย  แม้ว่ากำลังซื้อจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ  แต่ถ้าหากไม่ออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย  หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าเลยก็จะทำให้ยอดขายยิ่งแย่ลง

ด้วยเหตุนี้  หลายบริษัทจึงตัดสินใจออกมาใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า  เพื่อกระตุ้นยอดขายส่งท้ายปลายปี  ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีการออกมาใช้งบโฆษณาเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล  เห็นได้จากการมีโฆษณาสินค้าใหม่ๆ ออกอากาศทางสื่อทีวี  ซึ่งถือเป็นสื่อที่มีการใช้งบผ่านสื่อมากที่สุด
 
จากผลการสำรวจของ เอจีบีนีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่า มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2563  มีการขยายตัวคิดลบอยู่ที่ประมาณ 12.96% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 84,014 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 96.520 ล้านบาท โดยสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด  คือ  สื่อโรงหนัง  ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 52.89% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3,650 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่าประมาณ 7,748 ล้านบาท  ตามด้วยสื่อในอาคาร  ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 38.39% หรือมีมูลค่าอยู่ที่  597 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562  ที่มีมูลค่าประมาณ  969 ล้านบาท
 
 
 
ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ ก็มีการขยายตัวติดลบอยู่ที่  34.08% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,801 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ประมาณ 4,249 ล้านบาท สื่อเคเบิลทีวี/ แซทเทลไลท์ทีวี  ขยายตัวติดลบอยู่ที่  32.68%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,399 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี  2562  ที่มีมูลค่า 2,078 ล้านบาท  สื่อนิตยสาร  ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 31.79%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ  661 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ประมาณ 969 ล้านบาท 
 
ในส่วนของสื่อเคลื่อนที่  ขยายตัวติดลบอยู่ที่  25.76% หรือมีมูลค่าอยู่ที่  4,398 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันที่มีมูลค่าอยู่ที่  5,924 ล้านบาท สื่อวิทยุ ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 23.95% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 3,280 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 4,313 ล้านบาท สื่อนอกอาคาร ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 13.36% หรือมีมูลค่าอยู่ที่  5,491 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 6,338 ล้านบาท  และสื่อทีวี  ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 10.76% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 55,810 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า  62,538 ล้านบาท 
 
 
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาเดือน พ.ย. มีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 6.12% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 8,993 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่าประมาณ 9,579 ล้านบาท  โดยสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด คือ สื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวี ติดลบที่  42.93% หรือมีมูลค่าอยู่ที่  109 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า  191 ล้านบาท ตามด้วยสื่อโรงหนัง ติดลบที่ 40.66% หรือมีมูลค่าอยู่ที่  413 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 696 ล้านบาท สื่อวิทยุ ติดลบที่ 31.86% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 308 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 452 ล้านบาท สื่อนิตยสาร ติดลบที่  30.85%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 65 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 94 ล้านบาท 
 
ขณะที่สื่อเคลื่อนที่  ขยายตัวติดลบที่  29.60% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 440 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 625 ล้านบาท สื่อในอาคาร ติดลบที่ 7.41% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 75 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 81 ล้านบาท  สื่อทีวี ติดลบที่ 5.26% หรือมีมูลค่าอยูที่  5,966 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 6,297 ล้านบาท และสื่อนอกอาคาร ติดลบที่ 1.17% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 592 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า  599 ล้านบาท ส่วนสื่ออินเตอร์เน็ต ทั้งในส่วนของเดือน พ.ย. และช่วง 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.) ยังไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้  เนื่องจากปีนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บสถิติ
 
ในช่วงมกราคมถึงพฤศจิกายนปี 2020 ภาพรวมอุตสาหกรรมกลุ่มผลิตภัณฑภัณฑ์ส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มูลค่า 13,765 ล้านนบาท  โดยมีการใช้เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562  ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมหลักอย่างอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) ยังคงมีการขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยการติดลบที่ 10%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 15,065 ล้านบาท  เช่นเดียวกับกลุ่ม  Media & Marketing  ที่มีการขยายตัวลดลง  ด้วยการติดลบที่ 8% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 11,226 ล้านบาท  และกลุ่มยานยนต์ (Automotive)  ขยายตัวติดลบอยู่ที่ประมาณ  35% หรือมีมูลค่าอยู่ที่  5,692 ล้านบาท 
 
 
สำหรับของบริษัทที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในช่วงเดือน ม.ค.- พ.ย. 2563 ช่วง 3 อันดับแรก คือ 1.บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ จำกัด  มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 4,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ประมาณ 46% โดยแคมเปญที่มีการใช้เม็ดเงินมากที่สุดในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา คือ วาสลีน ซุปเปอร์ วิตามิน สินค้าใหม่ที่ใช้สื่อทีวีในการโฆษณาสินค้าคิดเป็นมูลค่า 41 ล้านบาท รองลงมา คือ บรีสเอ็กซ์เซล แอคทีฟ เฟรช ใช้สื่อโฆษณาทีวีคิดเป็นมูลค่า 32 ล้านบาท
 
อันดับ 2 เป็นของบริษัท เนสท์ล่ (ไทย) จำกัด มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือน ม.ค.- พ.ย.2563 คิดเป็นมูลค่า  2,553 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ประมาณ 41% โดยแคมเปญที่มีการใช้เม็ดเงินมากที่สุดในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา คือ เนสกาแฟ เบลนแนด์บรู หอมเข้ม นุ่มลงตัว โฆษณาทางสื่อทีวีคิดเป็นมูลค่า  44 ล้านบาท  รองลงมาคือ  เนสกาแฟ เอสเปรสโซ โรสต์  โฆษณาทางสื่อทีวี  คิดเป็นมูลค่า 32 ล้านบาท
 
อันดับ 3 เป็นของบริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล(ประเทศไทย) จำกัด  มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาในช่วงเดือน ม.ค.- พ.ย.2563 คิดเป็นมูลค่า  2,113 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ประมาณลบ 9%  โดยแคมเปญที่มีการใช้เม็ดเงินมากที่สุดในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา คือ  สินค้าใหม่แพนทีน สูตรโปรวิตามิน ลดการขาดหลุดร่วงของเส้นผม โฆษณาทางสื่อทีวี  คิดเป็นมูลค่า 23 ล้านบาท  รองลงมา คือ ดาวน์นี่ หอมติดทนยาวนานกว่าสูตรธรรมดา  โฆษณาทางสื่อทีวี  คิดเป็นมูลค่า  20  ล้านบาท

LastUpdate 19/12/2563 14:17:23 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:00 pm