การตลาด
สกู๊ป ''เมเจอร์'' ชูกลยุทธ์ 3T ปลุกรายได้พาองค์กร ก้าวสู่ ''Total Digital Organization''


ธุรกิจโรงภาพยนตร์ถือเป็นสื่อที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปแบบเต็มๆ เห็นได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่ เอจีบีนีลเส็น ประเทศไทย ออกมาระบุว่า  ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาเม็ดเงินโฆษณามีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 12.96% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 84,014 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 96.520 ล้านบาท โดยสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด  คือ  สื่อโรงหนัง  ติดลบอยู่ที่ 52.89% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3,650 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 7,748 ล้านบาท 

แม้ว่าจะเกิดวิกฤตกับธุรกิจโรงหนังส่งผลให้คนดูหนังน้อยลง  เม็ดเงินโฆษณาปรัยลดลง  แต่ก็ไม่ใช่แค่ธุรกิจโรงหนังเท่านั้นที่เจอวิกฤต  อีกหลายธุรกิจก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน  ก็ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส  หลายธุรกิจเริ่มออกมาปรับตัว  เพื่อก้าวผ่านในวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้  เช่นเดียวกับ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุดออกมาประกาศทรานส์ฟอร์มองค์กรและปรับโครงสร้างการทำงานใหม่สู่การเป็น Total Digital Organization  ควบคู่ไปกับการสร้าง Business Model ให้แข็งแรงผ่านกลยุทธ์ 3 T
 
สำหรับกลยุทธ์ 3 T ที่  เมเจอร์ฯ  จะยกมาใช้ในการบุกตลาดในครั้งนี้  ประกอบด้วย 1.Thai Movie จากสถานการณ์วิกฤตของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาภาพยนตร์ไทยกลายเป็นคอนเทนต์หลักที่ช่วยให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์สามารถผ่านจุดวิกฤต ถือเป็นช่วงโอกาสทองของภาพยนตร์ไทยที่จะโชว์คอนเทนต์อย่างเต็มที่สู่ตลาด เพราะสามารถช่วยแก้ปัญหาจากบทเรียนของสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากตลาดโรงภาพยนตร์โลกขาดสินค้าหรือคอนเทนต์ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้าฉาย
 
กลยุทธ์ที่ 2   คือ  Technology   แนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ เมเจอร์ฯ  จะยังคงเดินตามนโยบาย Major 5.0 ที่เคยได้ประกาศไว้  ด้วยการมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาเติมเต็มในการให้บริการมากขึ้น โดย เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ถือเป็นโรงภาพยนตร์รายแรกของโลกที่ขับเคลื่อนธุรกิจที่มีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาให้บริการลูกค้าตลอดมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การขายตั๋วผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ E Ticket แล้วพัฒนาต่อเป็น Seamless Ticket โดยมอบประสบการณ์การซื้อผ่านแอพได้ตั๋ว นำมาสแกนที่ตู้แล้วเดินเข้าโรงภาพยนตร์ได้ทันที และการพัฒนาระบบ AI&ML เป็นระบบ Movie Recommendation Engine เพื่อส่งมอบโปรโมชั่นที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น 
 
 
ในส่วนของกลยุทธ์ที่ 3 คือ  3. Trading : เกิด New Business จากการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์กับ “Major Popcorn Delivery” ที่ตอบรับความต้องการและอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ต้องการสั่งออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ โดยการร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจ Food Delivery อย่าง Grab Food, foodpanda, LINEMAN, gojek จัดส่งป๊อปคอร์นสดใหม่จากโรงภาพยนตร์ไปให้ลูกค้าได้รับประทานทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ไหนๆ ก็สามารถอร่อยกับ ป๊อปคอร์น Pop Corn Supersize ป๊อปคอร์นถังใหญ่ ขนาด 355 ออนซ์, Pop To Go ป๊อปคอร์นในถุงซิปล็อค ขนาด 75 ออนซ์, POP STAR ป๊อปคอร์นพรีเมียมบรรจุในกระป๋อง ขนาด 60 ออนซ์ 
 
 
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา  ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องปิดให้บริการชั่วคราว  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือเป็น Global Crisis  ซึ่งบริษัทก็เข้าใจดีว่าภาครัฐว่ามีความจำเป็นจะต้องล็อกดาวน์ เพื่อสู้กับสงครามการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  และยอมรับว่าในช่วงที่ปิดให้บริการมีรายได้หายไป  แต่อย่างไรก็ดี  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ เมื่อโรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการได้  หนังก็สามารถกลับมาฉายได้ทันที เพราะหนังเป็นสินค้าที่ไม่เน่าเสีย ลูกค้าก็กลับมาดูหนังได้เหมือนเดิมโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนไทย
 
 
ที่ผ่านมามีภาพยนตร์ไทย 3 เรื่องเข้าฉาย ทำให้ภาพยนตร์ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง เริ่มจากเรื่อง “มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ” ที่สามารถตอบโจทย์คนดูทางภาคใต้ ทำรายได้ ไปถึง 43 ล้านบาท ตามมาด้วย “อีเรียมซิ่ง” ซึ่งขณะนี้กวาดรายได้ไปแล้ว 200 ล้านบาท  และเรื่องสุดท้ายคือ  "อ้าย..คนหล่อลวง" หากผู้สร้างทำคอนเทนต์ทำได้น่าสนใจและโดนใจคนดู เชื่อว่าคนก็จะออกมาดูหนัง 
 
จากความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยที่เกิดขึ้นดังกล่าว  ทำให้ เมเจอร์ฯ ต้องปรับกลยุทธ์ในการทำตลาด ด้วยการ Rethink ให้ความสำคัญในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันการผลิตภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์  เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ  ซึ่งหากคอนเทนต์ภาพยนตร์ไทยมีความน่าสนใจและมีคุณภาพก็สามารถส่งออกไปขายยังกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดโลกได้  หากทำได้เช่นนั้นในอนาคตอันใกล้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจะมีส่วนแบ่งการตลาดสู่  50% ก้าวสู่ Tollywood (Thailand+Hollywood) of The World ที่คนทั่วโลกรู้จัก  เหมือนกับภาพยนตร์ฮอลลีวูด และบอลลีวูดของอินเดีย
   
 
สำหรับภาพรวมปี 2564 นายวิชามองว่า จะเป็นปีที่ Movie is back, No Time To Die จะมีภาพยนตร์เข้าฉายให้ลูกค้าได้ชมกันมากถึง 260 เรื่อง แบ่งเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดประมาณ 210 เรื่อง ภาพยนตร์ไทยประมาณ 50 เรื่อง  จากผู้สร้าง 6 ค่าย ได้แก่ M PICTURES, M๓๙, Transformation Film, CJ MAJOR Entertainment, TAI MAJOR และ รฤก โปรดักชั่น 
 
ในส่วนของแผนการทำตลาดในปี 2564  เมเจอร์ฯ จะทำการตลาดแบบ Convergence โดยทำ ON-GROUND ควบคู่ไปกับ ONLINE  และเลือกสรรคอนเทนต์ให้มีความหลากหลาย  เพื่อนำประสบการณ์พิเศษแปลกใหม่เข้าสู่โรงภาพยนตร์ เช่น การแข่งขันอีสปอร์ต และ Dine in Cinema  ขณะเดียวกัน ก็จะมีการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นทุกๆ เดือน  และเดินหน้าขยายการลงทุนขยายไปในสาขาต่างจังหวัด 8 สาขา รวม  24 โรง และสาขาในกัมพูชา อีก 2 สาขา 6 โรง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการชมภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์ภูมิภาค (Regional Film)  ที่นักแสดงพูดภาษาถิ่นของแต่ละภาค
 
อย่างไรก็ตาม  จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ภาพรวมรายได้ของ เมเจอร์ฯ ในปี 2563 นี้ น่าจะใกล้เคียงกับปี 62 ที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 11,141.21 ล้านบาท  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนปี 2564 จะสามารถกลับมาเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่  ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ  เพราะไม่รู้ว่ามันจะจบลงอย่างไร และตอนไหน  ที่สำคัญตอนนี้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว  จากเดิมที่คาดว่าเดือนสุดท้ายของปีนี้จะดีกว่าทุกเดือนที่ผ่านมา  เหมือนจะไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว
 

LastUpdate 26/12/2563 11:35:32 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:08 am