แบงก์-นอนแบงก์
ธปท. เผย รายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนธันวาคม 2563


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการประเมินภาวะเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ 

การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2563
 
ในการประชุมวันที่ 18 พฤศจิกายน และ 23 ธันวาคม 2563 / คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ สำหรับในปี 2564 และ 2565 คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 ในระยะสั้น รวมถึงการเข้าถึงและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในไทยที่อาจเป็นไปอย่างจำกัด ซึ่งจะกระทบต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะถัดไป นอกจากนี้ การฟื้นตัวยังมีแนวโน้มแตกต่างกันมากในแต่ละภาคเศรษฐกิจและกลุ่มพื้นที่ (uneven recovery) ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ทั้งนี้ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น 
 
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานจึงมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการฟื้นตัวที่แตกต่างกันส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่มมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ สถาบันการเงินจึงควรเร่งปรับโครงสร้างหนี้และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ การใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง (scarring effect) การปฏิรูปเชิงโครงสร้างจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กับมาตรการกระตุ้นอุปสงค์เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น
การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน
 
1. เศรษฐกิจโลก
 
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวน้อยลงในปี 2563 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 หลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาด มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวหลังการระบาดคลี่คลาย โดยวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่มีประสิทธิผลและมีแนวโน้มกระจายได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายการคลังที่ออกมาต่อเนื่องและนโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลาย จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะหดตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2563 และกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.8 และ 3.1 ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ทั้งนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังมีความเสี่ยงโน้มไปด้านต่ำแต่น้อยกว่าประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างทั่วถึงมีแนวโน้มสูงกว่าคาด รวมถึงมุมมองเชิงบวกต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่เอื้อต่อบรรยากาศการค้าโลก 
 
ภาครัฐทั่วโลกยังคงออกมาตรการการคลังอย่างต่อเนื่อง และบางประเทศเริ่มออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของ COVID-19 ทั้งระยะสั้นและระยะยาว สำหรับธนาคารกลางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องทั้งด้านปริมาณและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารกลางยุโรปประกาศขยายมาตรการการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคบางแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่ม อาทิ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ และธนาคารกลางอินโดนีเซียเพิ่มเติม
 
2. ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย
 
ภาวะการเงินไทยโดยรวมยังผ่อนคลาย อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลงเล็กน้อยจาก ความต้องการถือครองพันธบัตรระยะยาวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปล่อยใหม่ (new loan rate: NLR) ของภาคธุรกิจบางกลุ่มเริ่มปรับสูงขึ้น ส่วนหนึ่งจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ตามมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยดอกเบี้ยต่ำ (soft loans) ของภาครัฐที่ชะลอลง ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. และดัชนีค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นในไตรมาสที่ 4 หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความชัดเจน รวมถึงข่าวประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเร็วจากภาวะยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้นของนักลงทุน (risk-on sentiment) และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. จึงเห็นควรให้ติดตามอย่างใกล้ชิดและพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดัน การสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (new FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
 
เสถียรภาพระบบการเงินไทยยังมีความเสี่ยงสูงตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบางจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลง ในระยะต่อไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนและการฟื้นตัวระหว่างภาคธุรกิจยังแตกต่างกัน บางภาคธุรกิจอาจไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาที่ระดับก่อน COVID-19 ได้ ดังนั้นการสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมแก่ธุรกิจที่มีศักยภาพ การปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม รวมถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจและรูปแบบธุรกิจจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

3. แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย
 
ข้อสมมติสำหรับประมาณการ / ได้แก่ (1) รัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยมีมาตรการที่เข้มงวดในจังหวัดสมุทรสาคร ขณะที่การระบาดในพื้นที่อื่นอยู่ในระดับที่ควบคุมได้จากการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนแต่ไม่มีมาตรการที่เข้มงวดในวงกว้าง ทำให้ภาคบริการได้รับผลกระทบเพียงบางส่วน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัย 
 
(2) วัคซีนป้องกัน COVID-19 จะมีใช้อย่างทั่วถึงในต่างประเทศตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 และเริ่มกระจายวัคซีนให้คนไทยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ทำให้ไทยสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว แต่ต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนและการตรวจเชื้อ COVID-19 และคาดว่าตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2565 ไทยจะเปิดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขการกักตัวและการฉีดวัคซีน
และ (3) รัฐบาลสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 6.6 น้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาดในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ทยอยปรับดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้า รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นหลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ และการออกมาตรการภาครัฐซึ่งช่วยพยุงกำลังซื้อครัวเรือน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวสูง สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มหดตัวสูงและฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ในต่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรง ทำให้ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จำกัด สำหรับอุปสงค์ในประเทศ การระบาดระลอกใหม่ยังเป็นปัจจัยที่กดดันการบริโภคภาคเอกชน ด้านการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่แรงส่งจะชะลอลงบ้าง เนื่องจากมีการปรับลดกรอบงบประมาณปี 2564 และงบเหลื่อมปี หลังจากเร่งเบิกจ่ายไปแล้วในปี 2563 ประกอบกับการเลื่อนแผนการลงทุนและปรับลดกรอบงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.8 ตามข้อสมมติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวหลังมีการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างทั่วถึงทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
 
มูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 7.4 ในปี 2563 โดยการส่งออกไปจีนและยุโรปยังฟื้นตัวได้ช้า ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ และออสเตรเลียขยายตัวและอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 แล้ว สำหรับปี 2564 และปี 2565 การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 และ 5.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าไทยจะช้ากว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกของไทยมีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้รับผลดีจากสถานการณ์ COVID-19 ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค
 
ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ในต่างประเทศและไทยมีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จำกัดและยังต้องมีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด โดยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 และ 2564 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน และ 5.5 ล้านคน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวจะทยอยเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการกระจายวัคซีนในไทยและต่างประเทศ และจะเร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ที่ไทยสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์การฉีดวัคซีน คณะกรรมการฯ จึงประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านคน
 
การบริโภคภาคเอกชนในปี 2563 หดตัวน้อยกว่าคาด ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วหลังเปิดเมือง และตลาดแรงงานที่ทยอยฟื้นตัวสอดคล้องกับจำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศ มาตรการภาครัฐที่จะทยอยสิ้นสุดลง รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวไม่เข้มแข็ง จะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการบริโภคในระยะต่อไป โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 3.0 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ
 
การลงทุนภาคเอกชนในปี 2563 ยังหดตัวสูง เนื่องจากมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศยังไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี การลงทุนในปี 2564 และปี 2565 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 4.9 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนในส่วนของโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (public-private partnership: PPP) โดยเฉพาะใน EEC ที่มีความคืบหน้าชัดเจนมากขึ้น
 
ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2563 เกินดุลอยู่ที่ 16.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการเกินดุลการค้าในไตรมาสที่ 3 ซึ่งสูงกว่าคาด ขณะที่ในปี 2564 คาดว่าจะเกินดุลลดลงอยู่ที่ 11.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงเป็นสำคัญ สำหรับในปี 2565 คาดว่าจะเกินดุลสูงขึ้นที่ 29.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นตามการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขการกักตัวและการฉีดวัคซีน
 
เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่ากรณีฐาน โดยโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะต่ำกว่ากรณีฐานมาจาก (1) สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศอาจรุนแรงและลุกลาม (บทความในกรอบ: เศรษฐกิจไทยภายใต้การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่) จนต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดเพิ่มเติมในวงกว้าง (2) ประสิทธิผลของวัคซีน COVID-19 อาจน้อยกว่าคาดและการกระจายวัคซีนอาจล่าช้ากว่าคาดจากข้อจำกัดด้านต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าช้าออกไป (3) แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาด หากมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ (4) ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ และอาจกลับมาฟื้นตัวช้าแม้การระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects) และ (5) อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนอาจเพิ่มสูงขึ้นมากภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเสถียรภาพระบบการเงิน 
 
ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 ติดลบที่ร้อยละ 0.9 ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม สำหรับในปี 2564 มีแนวโน้มใกล้เคียงเดิมที่ร้อยละ 1.0 โดยข้อสมมติราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ถูกชดเชยโดยค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ที่ลดลงและผลของฐานราคาอาหารสดที่สูงในปี 2563 สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.3 ทั้งในปี 2563 และ 2564 โดยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.4 ในปี 2565 สอดคล้องกับอุปสงค์ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ
 
เศรษฐกิจไทยภายใต้การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่
 
รายงานนโยบายการเงิน เดือนธันวาคม 2563 ฉบับนี้เผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจที่คณะกรรมการนโยบายการเงินเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 โดยจัดทำขึ้นจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ซึ่งสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศระลอกใหม่ยังอยู่ในวงจำกัด และมีการประกาศมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดเพียงในจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสงคราม โดยประมาณการเศรษฐกิจในกรณีฐาน (baseline) ซึ่งจัดทำในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่บนข้อสมมติ ดังนี้ 
 
(1) พื้นที่การระบาดเกิดขึ้นในวงจำกัด เฉพาะสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง
 
(2) ไม่มีมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดในวงกว้าง โดยเป็นมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางพื้นที่ และสามารถควบคุมการระบาดได้ภายใน 1-2 เดือน
 
(3) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกิดขึ้นผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมในภาคบริการบางส่วนได้รับผลกระทบ การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบสูงเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัย สำหรับการบริโภคได้รับผลกระทบบ้าง ทั้งนี้ ผลกระทบบางส่วนถูกชดเชยโดยการเร่งใช้จ่ายภาครัฐผ่านงบประมาณด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือการระบาด
 
การระบาดของ COVID-19 ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ความเสี่ยงด้านต่ำ (downside risks) มีโอกาสเกิดสูงขึ้น ประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 และ 2565 จึงมีโอกาสที่จะต่ำกว่ากรณีฐาน โดยสถานการณ์ล่าสุด ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัดและประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น อีกทั้งยังไม่มีกำหนดระยะเวลาของมาตรการที่แน่นอน สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นตามมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น ภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงทั่วประเทศ สำหรับภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบน้อย โดยอาจมีอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าบ้าง อย่างไรก็ดี พัฒนาการด้านการจัดซื้อวัคซีนของไทยมีความคืบหน้ามากกว่าที่ประเมินไว้ ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศการจัดซื้อวัคซีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มส่งมอบตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงอาจทำได้เร็วกว่าคาด รวมถึงยังมีแผนการจัดหาวัคซีนให้ได้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากรภายในปี 2564
 
ภายใต้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยระลอกใหม่ที่อาจเปลี่ยนแปลงเร็วและไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์และประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ทั้งข้อมูลสาธารณสุข ข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือน รายสัปดาห์ และรายวัน รวมถึงการสอบถามความเห็นผู้ประกอบการ (Business Liaison Program: BLP) เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ม.ค. 2564 เวลา : 15:37:46
05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 1:14 am