การตลาด
สกู๊ป ''เปิด 5 เทรนด์การตลาด? ปี 2564 สู่ยุค ''Next Normal'' สู้วิกฤตโควิด-19


ปี 2563 ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับการทำธุรกิจแล้ว ปี 2564 ถือว่าเป็นปีที่มีความท้าทายมากกว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลง  ทำให้นักการตลาดต้องปรับตัวอย่างหนัก  เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือเทคโนโลยีที่นับวันจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตของผู้บริโภค

ความท้าทายที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ปี 2564 นี้ มีเทรนด์ธุรกิจการตลาดที่จะเกิดขึ้นอยู่ด้วยกัน 5 เทรนด์ คือ 
 
1. Food for the future  โดยเฉพาะ Plant-based  อาหารที่ผลิตจากพืช ที่เป็นกระแสมาแรงต่อเนื่องจากในปี 2020 เนื่องจากผู้บริโภคจะให้ความสำคัญอาหารที่สร้างความสมดุลกับระบบลำไส้มากขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง  หลังจากพบว่าภูมิคุ้มกันเป็นปัญหาด้านสุขภาพอันดับต้นๆ ประกอบกับมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้เทรนด์เมนูอาหารในปี 2564 นี้ผู้บริโภคจะให้ความนิยมเมนูอาหารที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกจากพืชมากขึ้น เช่น กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ผักและผลไม้ต่างๆ เป็นต้น
 
นอกจากนี้  ยังมีเทรนด์ของอาหารที่จะเกิดขึ้นดังนี้  ได้แก่  อาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic Foods) ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมี,อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ (Functional Foods and Drink) ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่จำเป็นกับร่างกาย ซึ่งอยู่ในทั้งเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์และเครื่องดื่มเข้มข้น หรือกระทั่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ,อาหารทางการแพทย์ (Medical Foods) เป็นอาหารที่ออกแบบมาเพื่อใช้บำบัดผู้ป่วยเฉพาะโรคได้แก่โรคเบาหวานโรคไต ,อาหารแห่งนวัตกรรม (Novel Foods) อาหารที่เป็นนวัตกรรมขั้นสูงเช่นการใช้นาโนเทคโนโลยีรวมทั้งแหล่งอาหารใหม่เช่นแมลงสาหร่ายและยีสต์
 
 
มาต่อกันที่เทรนด์ที่  2 คือ The Future Harmonization Retail เทรนด์นี้ถือว่ามาแรงอย่างมากในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย  เห็นได้จากการที่แต่ละห้างค้าปลีกออกมาทำการตลาดในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น  แม้ว่าค้าปลีกของไทยจะพยายามมองว่า การช้อปปิ้งเป็นไลฟ์สไตล์ของคนไทย แต่สุดท้ายห้างค้าปลีกก็จะเป็นเพียงแค่สถานที่ที่สร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้ง และมาจบด้วยการตัดสินใจซื้อผ่านช่องทางออนไลน์  
 
ด้วยเหตุนี้  ห้างค้าปลีกจึงต้องผสานการทำตลาดแบบออฟไลน์และออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน  ขณะเดียวกันแบรนด์สินค้าต่างๆ ก็พยายามสร้างช่องทางการขายของตัวเอง Direct-to-customer (D2C) โดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างห้างค้าปลีก  ด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง การใช้โซเชียลคอมเมิร์ซ Social Commerce ทั้ง LINE, Instagram , Streaming  และเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการทำตลาด  
 
เทรนด์ที่  3 Consumer Behavior 2021 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก ไม่แปลกที่พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเกิดความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่นักการตลาดต้องตีโจทย์ให้แตก เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเป็นปัจจัยที่กำหนดทิศทางการตัดสินใจของผู้บริโภค เริ่มจาก Value-based spending การซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะเกิดแนวคิดการรับรู้คุณค่าของผลิตภัณฑ์เทียบกับมูลค่าที่แท้จริง  ขณะเดียวกันก็จะเลือกซื้อสินค้าที่คำนึงถึงความปลอดภัยและผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น  เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขอนามัย
 
เช่นเดียวกับ  ปัจจัย Hyperlocal and on-demand purchasing ผู้บริโภคจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่สามารถเข้าถึงได้เร็วที่สุด ทำให้ธุรกิจทั้งใหญ่และเล็ก ต้องหันมาให้ความสนใจห่วงโซ่อุปทานและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เริ่มจากการหันมาซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลคอมเมิร์ซ หรือการไลฟ์ สตรีมมิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่ทำให้กลุ่ม Gen Z หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น 
 
เทรนด์ที่  4  Business Challenge 2021 ธุรกิจทั่วโลกยังคงเผชิญกับความท้าทายภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วก็ตามแต่เศรษฐกิจที่ถดถอยลงอย่างหนักหลากหลายธุรกิจต้องหยุดชะงักโดยเฉพาะธุรกิจสายการบินอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร้านอาหารโรงแรมหลายประเทศเกิดภาวการณ์ว่างงานกระทบต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภคลดลง
 
 
ปิดท้ายกันที่เทรนด์ที่ 5 แบรนด์คนดี จริงใจต่อสังคมและรักษ์โลก  หนึ่งในปัจจัยการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคในยุค 2021 แบรนด์หรือสินค้าต้องเป็นแบรนด์ที่แสดงถึงความจริงใจต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของเชื้อชาติความเท่าเทียมทางเพศ สัตว์ร่วมโลก แรงงาน หรือแม้กระทั่งการเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม  รวมไปถึงการใช้แพกเกจจิ้งที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  และการใช้พลังงานสะอาด  เป็นต้น
 
นายอนุวัตร เฉลิมไชย นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในโลกธุรกิจ  เห็นได้จากการเกิดขึ้นของ New Normal  และการเร่งพฤติกรรมให้คนไทยก้าวไปสู่โลก Digital Lifestyle เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน New Technology ก็เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงโลกของการตลาดแบบเดิมๆ ส่งผลให้โลกอะนาล็อกเปลี่ยนไปเป็นโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI ,Mixed Reality หรือ 5G
 
นอกจากนี้ ยังทำให้เกิด New Consumers ซึ่งกลุ่มที่มีอำนาจการซื้อมากที่สุดในยุคนี้ คือ Generation Z และ Silver Generation การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้นักการตลาดต้องปรับตัวนำกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ มาปรับใช้ให้สอดรับกับโลกธุรกิจในยุค Next Normal ได้แก่ Total Business Solution การผสานกลยุทธ์การทำตลาดเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า การทำงานร่วมกับลูกค้า ผ่านการวางแผนการสื่อสารแบบองค์รวม (Integrated Offline & Online Marketing Communication)
 
ดังนั้นนักการตลาดยุคใหม่ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและการตลาดยุคใหม่อยู่เสมอ ด้วยการเพิ่มศักยภาพใน 4 ด้าน  ได้แก่
 
1.Reskill & Upskill สร้างโอกาสตัวเอง ให้มีศักยภาพพร้อมก้าวสู่โลกการตลาดยุคใหม่
 
2.Martech & Innovations การเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาปรับใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลลัพธ์ที่แตกต่าง
 
3.Storytelling การสื่อสารอย่างมีศิลปะ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในโลกที่เต็มไปด้วยสาสน์จากหลายแบรนด์ 
 
และ 4. Marketing integrity & Sustainability การเติบโตอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลที่ดี

LastUpdate 09/01/2564 12:52:07 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:12 am