แบงก์-นอนแบงก์
SCBS CIO วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุน: จับตาการออกมาตรการกระตุ้นทางคลังของสหรัฐฯ และการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4-8 ม.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ที่ว่า สหรัฐฯจะออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มขึ้น หลังพรรคเดโมแครตครองสองที่นั่งวุฒิสมาชิกของรัฐจอร์เจีย ส่งผลให้เสมือนว่าพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา นอกจากนี้ ดัชนีฯยังได้แรงหนุนจากข้อมูลเชิงบวกเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเช่นกัน โดยปรับลดลงในช่วงแรก หลังนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศรอบใหม่ อย่างไรก็ดี ดัชนีฯกลับมาปรับเพิ่มขึ้น ขานรับการที่สำนักงานยาแห่งยุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ประกาศอนุมัติการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทโมเดอร์นา ในสหภาพยุโรป สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้น หลังธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP ของจีนในปี 2021 จะขยายตัว 7.9% ดีขึ้นจาก 6.9% ที่เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ รวมทั้ง ขานรับการที่ธนาคารกลางจีนได้ให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านตลาดหุ้นไทยปิดบวก ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ จากการที่สภาคองเกรสได้ประกาศรับรองชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯของนายไบเดนอย่างเป็นทางการ ประกอบกับ มีแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน ส่วนราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ซาอุดีอาระเบียได้สมัครใจปรับลดการผลิตน้ำมันลง 1 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 8.125 ล้านบาร์เรล/วัน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ไปจนถึงสิ้นเดือนมี.ค.นี้

 
 
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยได้รับ Sentiment ในเชิงบวก จากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติมของสหรัฐฯ หลังพรรคเดโมแครตเสมือนครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภา (Blue wave) นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสัญญาณความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 หลังสำนักควบคุมกฏระเบียบผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพและยา (MHRA) ได้ให้การอนุมัติการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 บริษัท Moderna เป็นกรณีฉุกเฉิน รวมทั้ง การทยอยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนประจำไตรมาสที่ 4 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ความกังวลการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 จะทำให้ทางการหลายประเทศยังต้องออกมาตรการควบคุมการระบาดในบางส่วนต่อ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งด้านสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯและจีน และความเสี่ยงเกาหลีเหนือ ที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไรระยะสั้น ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ตามแนวโน้มการทยอยเปลี่ยนกลุ่มหุ้น (Rotation) ของนักลงทุน ไปยังกลุ่มหุ้นวัฏจักรมากขึ้น รวมถึง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น หลังนางแนนซี่ เพโลซี่ โฆษกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ จะนำกฏหมายถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์เข้าสู่สภา เนื่องจากเป็นภัยต่อรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย โดยประเด็นต่างๆข้างต้นจะกดดันให้ตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

·การออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมของสหรัฐฯ โดยนายไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า จะเปิดเผยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในวันพฤหัสบดีนี้ เช่น เงินประกันการว่างง่าน และการพักชำระหนี้ค่าเช่า ประกอบกับ ในสัปดาห์นี้ ทางการสหรัฐฯ ได้เริ่มโครงการ Payment Protection Program (PPP) ซึ่งเป็นวงเงินกู้ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ในระยะที่ 2 ภายใต้วงเงินที่ได้รับจัดสรรเพิ่มจำนวน 284 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ

·ติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown โดยล่าสุด จีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 103 ราย ซึ่งถือเป็นการติดเชื้อใหม่รายวันมากที่สุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ขอเวลา 2-3 วัน ในการพิจารณาว่าจะประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือการระบาดรอบใหม่ ในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งรวมถึงจังหวัดโอซากา เกียวโต และเฮียวโงะ หรือไม่

·ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 โดย Pfizer รายงานว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ทางบริษัทพัฒนาร่วมกับ BioNTech มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่พบในสหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ ขณะที่ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ได้เปิดเผยว่า โครงการ COVAX ได้ทำสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 พันล้านโดส และจะมีการแจกจ่ายอย่างเท่าเทียมระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน

·ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งด้านสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯและจีน หลังนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า จะยกเลิกคำสั่งที่เป็นข้อจำกัดทุกอย่างที่ทำกับไต้หวันทั้งหมด รวมถึง ความเสี่ยงเกาหลีเหนือที่เพิ่มสูงขึ้น หลังนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เรียกร้องให้การมีพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น พร้อมกับระบุว่า สหรัฐฯเป็นศัตรูรายใหญ่ที่สุด

·ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และตลาดการเงิน หลังประธานาธิบดีทรัมป์ได้เตรียมขึ้นบัญชีดำบริษัทอาลีบาบา และเทนเซ็นต์ ในข้อหาที่ถูกครอบครองโดยกองทัพจีน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งบริหาร เพื่อห้ามทำธุรกรรมกับบริษัทซอฟแวร์ของจีน 8 ราย ซึ่งรวมถึง Alipay ของบริษัท Ant Financial Group

·การทยอยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เช่น JPMorgan, Wells Fargo และ Citigroup จะรายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ในสัปดาห์นี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่า กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ จะรายงานกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 4 หดตัวอยู่ที่ราว -10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และรายงานรายได้หดตัวอยู่ที่ราว -5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

·ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดุลการค้าของยูโรโซน, GDP ในปี 2020 ของเยอรมนี, ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและพื้นฐาน ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ, GDP ในไตรมาสที่ 4 และในปี 2020 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ดุลการค้าของจีน

วิเคราะห์โดย: เกษรี อายุตตะกะ CFP®ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด
จตุรภัทร ทนาบุตร    ผู้ช่วยผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด            

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ม.ค. 2564 เวลา : 16:33:57
07-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2024, 8:59 pm