เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ก.คลัง เผย การขยายระยะเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์  2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขยายระยะเวลาของมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม มาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านประกันภัย ที่มีอยู่เดิม ต่อไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้าง

ความต่อเนื่องในการสนับสนุนการลงทุน การจ้างงาน และการค้าที่สำคัญในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อันจะเป็นการสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้แก่ประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ดังกล่าว อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สรุป ดังนี้

1. มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจ
 
1.1 มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจโดยสามารถเลือกนำเงินได้ตามมาตรา 40 (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร
เสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 0.1 ของเงินได้พึงประเมิน โดยไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในปี 2564 ถึงปี 2566
 
1.2 มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้มีเงินได้ที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจและมีรายได้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้า หรือการให้บริการในเขตดังกล่าวจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2564 ที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงรอบระยะเวลาบัญชีปี 2566 ที่สิ้นสุดภายในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2566
 
1.3 มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจโดยจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 ของเงินได้ สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 ถึงปี 2566
 
1.4 มาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเหลือร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือกำไร สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
 
1.5 มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 0.01 สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์โดยการขาย แลกเปลี่ยน ให้ และการโอนโดยทางมรดกให้แก่ทายาท หรือการจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

2. มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจกำหนดให้บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักค่าใช้จ่ายและรายจ่ายค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ณ สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตดังกล่าว ได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายและรายจ่ายดังกล่าว สำหรับค่าใช้จ่ายและรายจ่ายตั้งแต่ปี 2564 ถึงปี 2566

3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน
 
3.1 มาตรการส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สินของกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักรายจ่ายการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการในเขตดังกล่าว แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
 
3.2 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31ธันวาคม 2566
 
3.3 มาตรการส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจไปทำงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจกำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่น ๆ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
 
3.4 มาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจกับกิจการที่จัดตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่มีสถานประกอบกิจการอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักรายจ่ายเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายจริง สำหรับรายจ่าย ดังนี้
 
(1) เงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นการเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลอื่นที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยไม่รวมถึงหุ้นบุริมสิทธิและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำเงินลงทุนไปใช้ในการประกอบกิจการในเขตดังกล่าวเท่านั้น
 
(2) เงินลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นนั้นต้องนำเงินลงทุนไปใช้ในการประกอบกิจการในเขตดังกล่าวเท่านั้น
ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

4. มาตรการด้านการเงิน
 
4.1 มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของเงินต้นที่ไม่เกิน 200,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
4.2 โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ขยายวงเงินสินเชื่อเป็น 8,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.25 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2565

5. มาตรการด้านประกันภัย
 
5.1 โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยชดเชยส่วนต่างค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 0.3 – 3 สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้าย และชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุของพนักงานที่สถานประกอบการทำประกันภัยให้ระยะเวลาดำเนินงาน : ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
 
5.2 โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับการประกันอัคคีภัย การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ผู้ประกอบการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านประกันภัย จะต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยและการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ โดยกระทรวงการคลังจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.พ. 2564 เวลา : 10:56:28
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 5:51 pm