การตลาด
สกู๊ป ''ซิงเกอร์'' เดินหน้าลุยขยายฐานลูกค้าทั่วประเทศ หวัง ''ดัน'' รายได้ปี 64 พุ่ง 25%


แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น  จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างมาก  ซึ่งจากผลกระทบดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกนาน 1-2 ปี นับตั้งแต่ปี 2565-2566  ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายธุรกิจต้องเร่งปรับตัว  เพื่อรับมือกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  เช่นเดียวกับธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หลายแบรนด์ปรับตัวได้  ส่งผลให้เริ่มกลับมามียอดขายเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น

จากแนวโน้มที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการออกมาคาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2564 นี้  ซึ่งมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 69,000 ล้านบาท มีโอกาสฟื้นตัวประมาณ 8-10% เนื่องจากบางหมวดสินค้ามีแนวโน้มเติบโตในทิศทางที่ดี  เช่น  ตู้เย็น, ตู้แช่ และเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก  ภายหลังผู้บริโภคให้ความสนใจซื้อสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นหลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  และคาดว่าจะมีอัตรารเติบโตต่อไปเช่นนี้จนถึงปี 2565  
 
ส่วนภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศและทีวีมีแนวโน้มการฟื้นตัวเล็กน้อย  เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก  เพราะเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นและเป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน  เช่นเดียวกับตลาดเครื่องซักผ้า  ที่มีการคาดการณ์ว่าปีนี้น่าจะมีอัตราการเติบโตที่ทรงตัว
 
การคาดการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับศูนย์วิจัยกรุงศรี ที่ระบุว่า อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2563-2565 มีแนวโน้มเติบโตเล็กน้อย โดยคาดว่าปริมาณความต้องการในประเทศจะขยายตัวเฉลี่ย 1-2% ต่อปี  เพราะมีปัจจัยหนุนมาจากสภาพอากาศที่คาดว่าจะร้อนขึ้นจากปรากฎการณ์โลกร้อนที่เอื้อต่อการทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็น ความต้องการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้นได้บ้างในปี 2564-2565  ขณะเดียวกันผู้บริโภคบางส่วนก็มีความต้องการเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ตามช่วงอายุการใช้งาน ประกอบกับผู้ประกอบการมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด  และขยายช่องทางการจำหน่าย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค 
 
อย่างไรก็ดี หากมองในเรื่องของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะทรงตัวหรือขยายตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เริ่มมีแนวโน้มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม เครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทที่ผลิตในไทย เช่น เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น อาจได้ประโยชน์จากความขัดแย้งดังกล่าว และเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นได้บ้าง ประกอบกับความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและรายได้ของประชากร
 
ทั้งนี้ จากแนวโน้มของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะบางกลุ่มสินค้ายังเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าซิงเกอร์มองเห็นโอกาส ด้วยการเดินหน้าเปิดตัวสินค้าใหม่ ควบคู่ไปกับการออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายมากขึ้น 
 
 
นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER กล่าวว่า  แผนการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 นี้  จะเดินหน้าขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น  ด้วยการหันมาเน้นทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อต่างๆ ตลอดทั้งปี  เพื่อให้ลูกค้าทราบถึงสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่บริษัทมี  ซึ่งล่าสุดบริษัทได้มีการเปิดตัว “โน๊ต-อุดม แต้พานิช” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรกของ SINGER  ประเทศไทย เพื่อร่วมสร้างการรับรู้การทำตลาดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 
 
แนวทางการทำตลาดในรูปแบบดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ใหม่การทำตลาดของแบรนด์ซิงเกอร์  ภายหลังได้ทำการปรับโมเดลธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2558  ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ซิงเกอร์  ที่มีความเป็นแบรนด์เคียงคู่กับคนไทยมามากกว่า 130 ปี  ควบคู่ไปกับตอกย้ำสโลแกน "ความสุขทุกสิ่ง เป็นจริงที่ซิงเกอร์" โดยมาในธีม “ซิงเกอร์ ผ่อนหนักให้เป็นเบา” เน้นสินค้าเงินผ่อนสบายๆ เพียงมีบัตรประชาชนใบเดียวก็ผ่อนได้
 
ปัจจุบันแบรนด์ซิงเกอร์มีสินค้าในพอร์ตหลากหลายรูปแบบ  และเป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ  โดยการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “ซิงเกอร์” เช่น จักรเย็บผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านต่างๆ สินค้าเชิงพาณิชย์ เช่น กลุ่มตู้แช่ กลุ่มสินค้าหยอดเหรียญ และสินค้าเครื่องมือทางการเกษตร รวมถึงธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ภายใต้ชื่อ "รถทำเงิน" รวมถึงการทำการผนึกกำลังภายในกลุ่มบริษัทเจมาร์ท เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม
 
นายกิตติพงศ์  กล่าวว่า หลังจากบริษัทมีการปรับโมเดลธุรกิจใหม่  ปัจจุบันซิงเกอร์มีสาขาที่เปิดให้บริการอยู่ทั่วประเทศรวมมากกว่า 2,000 สาขา แบ่งเป็นร้านสาขาหลัก 187 สาขา และร้านแฟรนไชส์หรือสาขาย่อยกว่า 2,000 สาขา ครอบคลุม 1,492 ตำบล ใน 700 อำเภอทั่วประเทศ  ซึ่งจากแผนการดำเนินงานดังกล่าว  บริษัทมั่นใจว่าสิ้นปี 2564  นี้จะมีรายได้ที่เติบโตไม่ต่ำกว่า 25% และขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่มเติมได้มากกว่า 50% จากปีก่อน โดยตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อโตแบบก้าวกระโดดที่ 10,000 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่มีพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท
 
 
สำหรับภาพรวมผลจากการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563  ที่ผ่านมามียอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาส 3 ของปี 2563  และเพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากมีจำนวนแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 สาขา  ภายในสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาส 3 ของปี 2563  และเพิ่มขึ้น 100% จากช่วงเดียวกันของปี 2562  
 
ผลประกอบการที่ดีดังกล่าว ทำให้รายได้ดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 18%  เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นในส่วนของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (Auto title loan) หรือ Car 4 Cash (C4C) จำนวน 3,200 ล้านบาท ขยายได้ตามเป้าที่ต้องการให้เพิ่มขึ้น 19% จากไตรมาสก่อน   ซึ่งอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้พอร์ตสินเชื่อมีรายได้แตะ 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% จากงวดเดียวกันของปีก่อน  ขณะที่คุณภาพหนี้ดีขึ้น NPL 60% จากธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ( Home Appliance s หรือ HP) ลดลงได้ส่วนหนึ่ง  เพราะได้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ออกมาเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้มีรายได้น้อย  จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวทำให้กำไรสุทธิทั้งปี 2563  มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 442 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 166% จากช่วงเดียวกันของปี 2562  
 

LastUpdate 13/02/2564 12:37:26 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 10:28 pm