ข่าวประชาสัมพันธ์
กอนช.ชี้อ่างฯใหญ่พร้อมรับน้ำระดับน้ำในแม่น้ำอยู่เกณฑ์น้อยหลังกูรูหลายสำนักฟันธงฝนมาเร็ว-หนัก


กอนช.ประเมินปัจจัยดินยังแห้ง-แม่น้ำสายหลักน้ำน้อย อ่างฯใหญ่หลังแล้งพร้อมรอรับน้ำฝน หลังหน่วยคาดการณ์ฝนชี้ปีนี้มาเร็ว-ตกหนัก มั่นใจแผนเตรียมพร้อมปรับเกณฑ์เก็บกักน้ำในเขื่อนให้เหมาะสมในการเก็บกักน้ำฝนตลอดฤดู ด้านสถานการณ์น้ำเค็มเจ้าพระยาไม่น่าห่วง “บิ๊กป้อม”เตรียมลงพื้นที่เขื่อนพระรามหก 3 มี.ค.นี้ สร้างความมั่นใจมาตรการจัดการน้ำคุมค่าความเค็มก่อนสิ้นฤดูแล้ง


 
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับการคาดการณ์ลักษณะอากาศในปี 2564 ของนักวิชาการหลายสำนัก ที่ระบุว่าปี 2564 จะมีลักษณะคล้ายปี 2539 ว่าฝนปีนี้จะมาเร็วกว่าปกติ โดยคาดว่าในเดือนเมษายนนี้อาจจะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติและอาจเกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และความเค็มได้ในช่วงฤดูแล้งนี้ได้ ประกอบกับ 9 มาตรการแก้ไขภัยแล้งที่ทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช.ได้เร่งรัดดำเนินการ ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การคาดการณ์ดังกล่าวจึงไม่น่ากังวลหนัก เนื่องจากหากปริมาณฝนตกหนักในช่วงปลายฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝน สภาพดินที่แห้งแล้งต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่เข้าสู่ฤดูแล้ง สามารถอุ้มน้ำได้มาก ขณะเดียวกันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกขนาด ขณะนี้ก็สามารถรองรับน้ำฝนได้มากเช่นเดียวกัน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการจัดสรรน้ำไปเพื่อกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันพบว่า    มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% มีถึง 8 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือถึง 6แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ที่จะมีปริมาณฝนตกลงมาในช่วงแรก นอกจากนี้ ยังรวมถึงแม่น้ำสายหลักต่างๆ ทั่วประเทศยังอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา ป่าสัก และแม่กลอง โดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งเฉลี่ย 10–12 เมตร

สำหรับการคาดการณ์ว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม ทาง กอนช.จะมีการวิเคราะห์ ติดตามพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อพิจารณามาตรการรองรับผลกระทบล่วงหน้าอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน รวมถึงในเดือนสิงหาคมที่คาดว่าจะมีฝนตกต่อเนื่อง เดือนกันยายนจะมีฝนตกมาก จะมีการหารือร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสสน. เพื่อประเมินปริมาณฝนอย่างใกล้ชิดในแต่ละช่วงเวลาอีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้ยังเป็นระยะไกลอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ค่อนข้างมาก รวมถึงพายุหมุนเขตร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยสถิติพายุที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2539 มีพายุจรทางภาคเหนือ จำนวน 2 ลูก และภาคใต้ จำนวน 2 ลูก ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นระยะๆ และกำหนดแผนปฏิบัติการให้หน่วยงานปฏิบัติเตรียมความพร้อมในเชิงป้องกันโดยเร็วต่อไป
 

เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนถือว่ายังมีน้อยมาก ซึ่งต้องใช้ให้เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝน สทนช.ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบแหล่งน้ำ สำรวจและประเมินแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าร้อยละ 30 วางแผนบริหารจัดการน้ำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอไปถึงเดือนมิถุนายน 64 และปรับเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน (Rule Curve) โดยนำข้อมูลการคาดการณ์ฝนจากระบบ ONE MAP เพื่อนำไปใช้คาดการณ์ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำเพื่อวางแผนการบริหารจัดการให้เหมาะสม รวมถึงให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนแหล่งน้ำบนดินและผิวดิน ให้ประชาชนไม่ได้รับกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะที่มาตรการควบคุมค่าความเค็มบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะเกิดค่าความเค็มเกินเกณฑ์มาตรฐานได้อีกในช่วงเดือนมีนาคม 64 โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดดำเนินการมาตรการการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำใน 3 มาตการหลัก ได้แก่ ควบคุมการสูบน้ำของสถานีสูบน้ำ ควบคุมกำกับการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเคร่งครัด เพิ่มการระบายน้ำ จาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็ม โดยในวันที่ 3 มีนาคมนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง ณ เขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเน้นย้ำให้ทุกหน่วยได้ช่วยกันคุมเข้มมาตรการต่างๆ ทั้งการสูบน้ำไปใช้ระหว่างทาง การเพาะปลูกพืชเกินแผน ไม่ให้เกิดผลกระทบกันเป็นวงกว้าง รวมถึงการกำหนดการสั่งการถึงการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในระยะยาวด้วย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.พ. 2564 เวลา : 17:46:35
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 2:46 am