ข่าวประชาสัมพันธ์
สทนช. วอนผู้ใช้น้ำมั่นใจหลักเกณฑ์การเก็บค่าใช้น้ำ ยึดมั่นความเป็นธรรมแก่ทุกภาคส่วน


สทนช. ชี้แจงร่างฯ กำหนดประเภทการใช้น้ำ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์สำหรับเก็บค่าน้ำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น ก่อนส่งต่อเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองพิจารณาตามขั้นตอน ย้ำขอผู้ใช้น้ำมั่นใจในความเป็นธรรม


ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ชี้แจงในกรณีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นการเก็บค่าใช้น้ำ ซึ่งได้แพร่หลายอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้ ว่า การเก็บค่าใช้น้ำ ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงหาผลกำไร แต่เป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ เพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายการลงทุนการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยจะมีการเก็บในอัตราที่แตกต่างกันตามประเภทของการใช้น้ำ โดยปัจจุบัน สทนช. ได้มีการศึกษาพิจารณายกร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ มาตรา 41 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ร่างที่กำหนดดังกล่าว ยังต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดก่อนที่จะนำเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
 
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้มีการกำหนดแบ่งการใช้น้ำออกเป็น 3 ประเภท คือ
 
1) การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ ซึ่งมีหลักเกณฑ์คือ การเพาะปลูกในรอบแรกไม่มีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะปลูกจำนวนกี่ไร่ แต่สำหรับช่วงฤดูแล้งที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำจะเริ่มเก็บเงินสำหรับผู้ใช้น้ำที่ใช้น้ำในที่ดินเกิน 66 ไร่   สำหรับการทำนาเกลือสมุทรจะเริ่มมีการเก็บเงินหากผู้ใช้น้ำถือครองที่ดินเกิน 142 ไร่
 
2) การใช้น้ำประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ คือ การใช้น้ำบาดาลต่อบ่อต้องไม่เกิน 3,200 ลบ.ม./วัน  หรือ การใช้น้ำจากแหล่งน้ำผิวดินทุกประเภทต้องไม่เกิน 30,000 ลบ.ม./วัน
3) การใช้น้ำประเภทที่สาม การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อ่างกว้างขวาง โดยกำหนดการใช้น้ำที่มากกว่าประเภทที่ 2 กล่าวคืออัตราการใช้น้ำบาดาลต่อบ่อต้องมากกว่า 3,200 ลบ.ม./วัน และอัตราการใช้น้ำผิวดินต้องมากกว่า 30,000 ลบ.ม./วัน รวมถึงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำทุกกรณีไม่ว่าจะผันน้ำในปริมาณเท่าไหร่

“นอกจากนี้ ปัจจุบัน สทนช. ยังได้มีการจัดทำแบบสอบถามการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสอบถามเกี่ยวกับลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำ พ.ศ. …. ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ต่อไปด้วย จึงขอให้ผู้ใช้น้ำทุกคนที่มีความกังวลเกิดความมั่นใจได้ว่าการดำเนินงานในทุกกระบวนการ จะผ่านการพิจารณากลั่นกรองอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกภาคส่วน” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 มี.ค. 2564 เวลา : 10:49:46
07-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2024, 3:56 am