แบงก์-นอนแบงก์
SCBS CIOวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุน : จับตาถ้อยแถลงของประธาน Fed และความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-19 มี.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ ได้รับปัจจัยกดดันจากแรงขายในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ยังเพิ่มสูงขึ้น และแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลายด้านเงินทุน (Supplementary Leverage Ratio : SLR) ขณะที่ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ประชุมฯ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมจนถึงสิ้นปี 2023 และคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์อยู่ที่ 120,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ต่อเดือน ตามเดิม ตลาดหุ้นยุโรป ปิดทรงตัว จากความกังวลการระบาดรอบใหม่ในยุโรป โดยอิตาลี และฝรั่งเศสได้มีการประกาศใช้มาตรการ lockdown อีกครั้ง รวมทั้ง การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างล่าช้าในบางประเทศของยุโรป ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดบวกเล็กน้อย แม้ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เปลี่ยนเป้าหมายการซื้อ ETF ตามสถานการณ์ และคงการซื้อ ETF เฉพาะในดัชนี TOPIX ก็ตาม ส่วนตลาดหุ้นจีน (A-share) ปรับลดลง หลังการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีน เมื่อวัน 18-19 มี.ค. ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับ ยังมีความกังวลว่า รัฐบาลจีนอาจออกนโยบายเพื่อควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อนแรงเกินไป ด้านตลาดหุ้นไทย ปิดลบเช่นกัน จากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับลดลง และดัชนีฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนน้ำหนักดัชนีรอบใหม่ ของผู้จัดทำดัชนี FTSE ที่ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย สำหรับราคาน้ำมันดิบ ปรับลดลงอย่างมาก จากความกังวลที่ว่า การใช้มาตรการ lockdown รอบใหม่ในยุโรป อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันโลก และจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ส่วนราคาทองคำ ปิดบวก หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่า จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปี 2023


มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
 
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน โดยตลาดหุ้นยังคงได้รับอานิสงส์ จากผลของการออกมาตรการเยียวยารอบใหม่ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ และความคาดหวังของนักลงทุนต่อแนวโน้มการออกมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ วงเงิน 2-4 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ภายในปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าของการทยอยแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 โดยล่าสุดองค์การอนามัยโลก ได้เปิดเผยว่า ข้อมูลการใช้วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca ไม่ได้บ่งชี้ถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และ WHO จะยังจับตาผลกระทบของวัคซีนดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความกังวลจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไรระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Growth สหรัฐฯ ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นมามาก และ Valuation ค่อนข้างตึงตัว รวมไปถึง ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ประกอบกับ นักลงทุนบางส่วนมีแนวโน้มระมัดระวังการซื้อขาย เพื่อรอติดตามถ้อยแถลงของนายพาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ และสมาชิกธนาคารกลางสหรัฐฯ หลายท่าน ว่าจะมีการส่งสัญญาณ หรือกล่าวถึงเครื่องมือ เพื่อช่วยชะลอการเพิ่มสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หรือไม่ โดยประเด็นข้างต้นเหล่านี้ จะยังสร้างความผันผวน และกดดันตลาดหุ้นโดยรวม

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

·การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลายด้านเงินทุนของธนาคารสหรัฐฯ (SLR) ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.นี้ โดยการไม่ต่ออายุมาตรการดังกล่าว อาจส่งผลให้ธนาคารสหรัฐฯ มีความต้องการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลง หรืออาจขายพันธบัตรสหรัฐฯ ออกมา เพื่อให้อัตราส่วน SLR เป็นไปตามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำหนด

·ถ้อยแถลงของนายพาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยนายพาวเวล จะแถลงต่อคณะกรรมการบริการการเงินสภาผู้แทนราษฎร (23 มี.ค.) ตามด้วยการแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินวุฒิสภา (24 มี.ค.) และถ้อยแถลงของนางเยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ คาดว่า ถ้อยแถลงของนายพาวเวล จะไม่แตกต่างจากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ รอบล่าสุด มากนัก

·ติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown โดยฝรั่งเศสได้ประกาศใช้มาตรการ lockdown อีกครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. ขณะที่ เยอรมนีได้ขยายระยะเวลาปิดเมืองออกไปอีก 4 สัปดาห์จนถึงวันที่ 18 เม.ย. อย่างไรก็ดี ไอร์แลนด์ได้ประกาศเปิดประเทศให้กับชาวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ขณะที่ จีนได้ประกาศว่าจะรับชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ หากได้รับการฉีดวัคซีนที่ผลิตจากจีน

·ประเด็นเรื่องการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 โดยเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนได้ประกาศกลับมาใช้วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca ในขณะที่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน ยังคงชะลอการฉีดวัคซีนดังกล่าว ด้านสหรัฐฯ ได้แจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 โดสแรกไปแล้วกว่า 21% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด และผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ยังกล่าวว่า สหรัฐฯ จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้

·ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรป และสหราชอาณาจักร (UK) โดยเจ้าหน้าที่ยุโรปได้ระบุว่า ยุโรปมีแนวโน้มห้ามการส่งออกวัคซีนของ AstraZeneca และส่วนผสมไป UK เนื่องจากยุโรปต้องการให้กระบวนการฉีดวัคซีนเป็นไปตามกำหนด ขณะที่ ก่อนหน้านี้ EU ออกกฎหมายต่อต้านการละเมิดข้อตกลง Brexit ของ UK เนื่องจาก UK ชะลอการตรวจสอบสินค้าข้ามแดนระหว่าง UK และไอร์แลนด์เหนือ

·ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยผลการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีน ยังคงไม่มีความคืบหน้าสำคัญใดๆ ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สามารถบรรลุเป้าหมายขั้นต้นในการแสดงถึงความกังวลอย่างมากของสหรัฐฯ และพันธมิตร เกี่ยวกับพฤติกรรม และการกระทำของจีน เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง การกวาดล้างผู้เห็นต่างในฮ่องกง และการข่มขู่ไต้หวัน เป็นต้น

· ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย โดยล่าสุดเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ ได้เดินทางกลับมอสโก เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับวิธีการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย หลังจากที่ประธานาธิบดีไบเดน กล่าวว่า ประธานาธิบดี ปูติน ของรัสเซีย เป็นฆาตกรที่ต้องรับผลจากการกระทำในการแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ

·ความกังวลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่บางประเทศ หลังจากที่นายซาฮาป คาฟซีโอกูล ซึ่งมีแนวนโยบายที่ค่อนข้างต่อต้านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้รับการแต่งตั้งแทนผู้ว่าธนาคารกลางตุรกีคนเดิมซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2% อยู่ที่ระดับ 19% เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น

·การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยที่ประชุมฯ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตามเดิม เพื่อ คงขีดความสามารถในการใช้นโยบายการเงิน ลดการแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่เหมาะสมกับความเสี่ยง และ เพื่อรอดูผลจากการออกมาตรการเยียวยาของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา  นอกจากนี้ ให้ติดตามการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2021-2022

·การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 4/2020 เช่น Kingfisher Cineworld Compass Tencent และ Gamestop

·ตัวเลขเศรษฐกิจ

สหรัฐฯ   ยอดขายบ้านใหม่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ GDP ในไตรมาสที่ 4 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก รายได้ส่วนบุคคล ยอดใช้จ่ายส่วนบุคคล ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีราคาการใช้จ่ายพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน

ยุโรป     ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

เยอรมนี  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

อังกฤษ   ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต และยอดค้าปลีก

ญี่ปุ่น     ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต และดัชนีราคาผู้บริโภค

ไทย       ยอดส่งออก ยอดนำเข้า ดุลการค้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

วิเคราะห์โดย: นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ SCBS-Chief Investment Office
                  นายจตุรภัทร ทนาบุตร ผู้จัดการ SCBS-Chief Investment Office        

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 มี.ค. 2564 เวลา : 11:28:22
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 1:03 am