ข่าวประชาสัมพันธ์
SEAC นำเทรนด์ เปิดห้อง 'Clubhouse' เพิ่มช่องทางการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง


ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (Southeast Asia Center หรือ SEAC) ภายใต้พันธกิจที่ต้องการเห็นคนไทยตื่นตัวอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา โดยส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งความรู้เพื่อพัฒนาทักษะ และเชื่อมต่อคนทำงานทุกคน ตั้งแต่พนักงานรุ่นใหม่ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดของหลากหลายองค์กรและอุตสาหกรรม เพื่อช่วยพลิกโฉมองค์กรไทยให้สามารถรังสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์ความท้าทายในโลกปัจจุบัน

 


ล่าสุด SEAC ได้นำเสนอทางเลือกในการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง Clubhouse (คลับเฮาส์) เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น โดยประเดิมจัดซีรีส์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ Clubhouse Special Episode: ล้อมวงคุยกับ YourNextU by SEAC เป็น Episode แรกภายใต้หัวข้อ “เป็นเจ้านายยังไงให้ลูกน้องลาออก” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา เวลา 20.00 – 21.30 น. โดยในรายการได้มีการพูดคุยระหว่างวิทยากรชั้นนำและผู้ร่วมรับฟังบน Clubhouse กว่าห้าร้อยแอคเคาท์ ถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่ท้าทาย รวมถึงวิธีรับมือเมื่อต้องเจอกับหัวหน้างานที่ทำงานด้วยยาก ตลอดจนบทเรียนที่คนเป็นหัวหน้าและลูกน้องสามารถนำไปเรียนรู้และปรับปรุงได้ในอนาคต โดยมีวิทยากรรับเชิญระดับนักบริหารการตลาดชั้นนำของไทยมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ถึง 4 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาด้านแบรนด์ที่มีชื่อเสียง, คุณนงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ร้านอาหารซิซซ์เล่อร์, คุณจักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด, และชวนพูดคุยโดย ดร.สมชาติ วิศิษฐ์ชัยชาญ ที่ปรึกษาจากบริษัท SEAC และวิทยากรที่ได้รับการรับรอง Certified Facilitator of Stanford’s Design Thinking Program

สำหรับประเด็นสำคัญจาก Clubhouse Special Episode: ล้อมวงคุยกับ YourNextU by SEAC EP.1 ที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนเป็นเจ้านายที่ทำให้ลูกน้องอยากลาออกนั้น ได้แก่ เจ้านายที่ชอบจับผิดลูกน้อง มักจะชอบแก้งานโดยเน้นไปที่จุดเล็กๆ มากกว่าการมองภาพใหญ่ (หรือ Micromanagement) เจ้านายที่เป็นหนึ่งหัวหน้าครอบครัว เจ้านายที่มีอารมณ์แปรปรวน เจ้านายที่มีมุมมองไม่ตรงกันจนทำให้มีปากเสียงกับลูกน้อง และเจ้านายที่รับถูกแต่ไม่รับผิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้ลูกน้องรู้สึกอึดอัด ทำงานด้วยแล้วไม่สบายใจจนต้องอยากลาออก แล้วเจ้านายที่ดีควรเป็นอย่างไร? ทางวิทยากรรับเชิญได้ให้คำแนะนำว่า แทนที่จะคอยจับผิด เจ้านายควรจะ ‘จับถูก’ ลูกน้อง มอบคำชื่นชมในความสำเร็จเล็กๆ ที่ลูกน้องทำ สร้างแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมให้งานออกมาดีขึ้น เจ้านายควรวางตัวเป็นทั้งหัวหน้า เพื่อน และครูให้กับลูกน้องไปพร้อมๆ กัน ไม่เพียงแค่คอยสอนพวกเขาให้มีการพัฒนาและเติบโตได้ในอนาคต แต่ทั้งยังสามารถดึงศักยภาพลูกน้องออกมาใช้ในหลายๆ เรื่องเป็นส่วนช่วยให้ลูกน้องมีความสุขและสบายใจกับการทำงานมากขึ้น ซึ่งความสุขเหล่านี้จะถ่ายทอดไปสู่ผู้ร่วมงานทีมอื่นๆ ภายในองค์กรและไปถึงลูกค้าได้

ในส่วนของ Clubhouse Special Episode: ล้อมวงคุยกับ YourNextU by SEAC ในครั้งต่อไปจะชวนคิดและชวนคุยในหัวข้อ “ใครเคยทำงานกับคนประหลาด ยกมือขึ้น!!” โดยจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคมนี้ เวลา 20.00 - 21.30 น. เชิญชวนคนวัยทำงานชาวไทยมาร่วมแบ่งประสบการณ์และเปิดรับความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับความท้าทายในที่ทำงาน พร้อมวิธีการหาทางออกที่อัดแน่นด้วยสาระในรูปแบบที่สนุกและเป็นกันเอง กับวิทยากรชื่อดังที่จะมาร่วมพูดคุยในสัปดาห์นี้ได้แก่ คุณหญิงนุ่น - หม่อมราชวงศ์สุทธิภาณี ยุคล ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย คุณภูมิ - อาจารย์ถิรพุทธิ์ ปิติฉัตร อาจารย์ประจำภาควิชาพาณิชยศาสตร์ Chulalongkorn Business School และคุณหนึ่ง - ธัญญ์นิธิ อภิชัยโชติรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Small World for Kids Co., Ltd หนึ่งใน CEO คนไทยที่ได้รับเลือกจาก Facebook ให้เป็น Alpha Tester ที่จะมาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์งาน “พัง” เพราะต้องทำงานกับคนประหลาด พร้อมแบ่งปันเทคนิคเมื่อต้องทำงานกับคนต่างสไตล์ ชวนพูดคุย โดย พี่แดน สมชาติ วิศิษฐ์ชัยชาญ ที่ปรึกษาจากบริษัท SEAC และวิทยากรที่ได้รับการรับรอง Certified Facilitator of Stanford’s Design Thinking Program

ซึ่งซีรีส์ Clubhouse Special Episode: ล้อมวงคุยกับ YourNextU by SEAC และรายการแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ ของ SEAC จะยังคงจัดต่อเนื่องเป็นประจำ ผ่านช่องทางออนไลน์ที่หลากหลาย เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะบนแพลตฟอร์มการเรียนรู้แลกเปลี่ยนใหม่ๆ ส่งเสริมให้คนไทยและองค์กรไทยพัฒนาการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและอัปเดตต่างๆ ได้ทาง Facebook ของ YourNextU

LastUpdate 24/03/2564 19:53:03 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 12:41 pm