การตลาด
TPIPP ประกาศข่าวดี ชนะประมูลโรงไฟฟ้าโคราชด้วยคะแนนสูงสุด พร้อมเดินหน้าประมูลโครงการอื่นต่อเนื่อง


“บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” หรือ TPIPP ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคคว้างานก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะและบริหารจัดการโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 2 เทศบาลนครโคราช สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ คาดใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เริ่ม COD ภายในปี 2566 หนุนรายได้เพิ่ม ประมาณ 480 ล้านบาทต่อปี พร้อมเดินหน้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าขยะอื่นๆ อีก 11 โครงการ กำลังการผลิตรวม 135 เมกะวัตต์  


 

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP รับผิดชอบสายบัญชีและการเงิน เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้รับแจ้ง จากคณะกรรมการดำเนินการจัดหาเอกชนลงทุนก่อสร้าง และบริหารจัดการโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอยระยะที่ 2 ของเทศบาลนครนครราชสีมา ให้ TPIPP เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระยะที่ 2 จากเทศบาลนครนครราชสีมา โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาทสำหรับโครงการนี้ ซึ่งบริษัทฯอยู่ในสถานการณ์ทางการเงินที่แข็งแกร่งมีความสามารถจะดมทุนได้หลากหลายทาง โดยมี IRR (Internal Rate of Return) เฉลี่ย 12-15% 

สำหรับขอบเขตของงานจ้าง เทศบาลนครราชสีมาได้กำหนดปริมาณขยะมูลฝอยเข้าสู่โครงการไม่น้อยกว่า 400 ตันต่อวัน โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี ค่ากำจัดขยะมูลฝอยไม่เกิน 400 บาทต่อตัน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในปีแรกของการเดินระบบ และปรับเพิ่มขึ้น 10% ทุก ๆ 3 ปี (ตามค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์) และจะมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าจากการกำจัดขยะมูลฝอย ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 20 ปี ในอัตรา 5.78 บาทต่อหน่วย สำหรับ 8 ปีแรก และอัตรา 5.08 บาทต่อหน่วยสำหรับ 12 ปีถัดไป ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี เริ่มผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2566 ซึ่งน่าจะสร้างรายได้แก่บริษัทฯ ปีละ ประมาณ 480 ล้านบาท 

“จากที่บริษัทฯได้ยื่นประมูลกับเทศบาลโคราชฯเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ทางเทศบาลโคราชได้ประกาศผ่านหน้า website ของเทศบาลว่าทางคณะกรรมการได้มีมติให้ทางบริษัทฯชนะการประมูล เนื่องจากบริษัทฯได้คะแนนสูงที่สุดในหมู่ผู้เข้าประมูลเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะของ อบจ.สงขลา โดยหลักการให้คะแนนก็ใกล้เคียงกัน ประกอบไปด้วย ประสปการณ์ เงินทุน เทคโนโลยี และสำคัญที่สุดคือผลตอบแทนที่ให้กับเทศบาล ซึ่งทางบริษัทฯให้ผลตอบแทนดี อาทิ ไม่คิดค่ากำจัดขยะ 100 ตันแรก เช่ารถขนถ่ายขยะให้เทศบาลตลอดอายุสัญญา เป็นต้น รวมผลตอบแทนทั้งหมดที่ให้กับเทศบาล ตลอดอายุสัญญา 20 ปี รวม 777 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทฯจึงได้คะแนนสูงสุดและชนะการประมูลไป” นายภัคพล กล่าว 

หลังจากนี้ ทางบริษัทฯต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ COP (Code of Practice) ซึ่งทางบริษัทฯยังยืนยันทำตามกฏหมายทุกขั้นตอน เช่นเดียวกันกับโครงการอื่นๆ ก่อนจะเริ่มก่อสร้างและเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA (Power Purchase Agreement) ต่อไป นอกจากนี้ บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะอื่น ๆ เพิ่มเติม อีกกว่า 11 โครงการ กำลังการผลิตรวม 135 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเข้ามาเสริมทัพให้กับโรงไฟฟ้าเดิม และส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทฯดีขึ้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต โดยเชื่อว่าด้วยจุดแข็งของ TPIPP ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและบริหารโรงงานไฟฟ้ารวมถึงโรงงานกำจัดขยะ จะมีโอกาสได้รับงานก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะอื่น ๆ เพิ่มเติม

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 มี.ค. 2564 เวลา : 11:12:45
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:51 am