การตลาด
สกู๊ป ''ซีอาร์จี'' ปลุก 5 กลยุทธ์ ''ทางรอด'' สู้โควิด-19 หวังดันรายได้ปี 64 ทะลุ 1.2 หมื่นล้าน


แม้ว่าปี 2563 ที่ผ่านมาบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี จะประสบกับปัญหากับการดำเนินธุรกิจพอสมควร  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ไปแบบเต็มๆ เห็นได้จากผลประกอบการโดยรวมในปี  2563  ที่มีรายได้เพียง 10,100  ล้านบาท ลดลงจากปี 2562  มากถึง 17 % เนื่องจากมีการขยายสาขาใหม่เพิ่มได้เพียง 30 สาขา เท่านั้น  ส่งผลให้ตลอดปี 2563  ซีอาร์จี  มีสาขารวมกันอยู่ที่ประมาณ 1,100 สาขา  

จากผลกระทบที่ได้รับดังกล่าว ทำให้ ซีอาร์จี  ต้องออกมาปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดใหม่  ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น  ซึ่งหลังจากปรับกลยุทธ์การทำตลาดในปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า  การขยายธุรกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น  เช่นเดียวกับการปรับแผนการให้บริการในรูปแบบเดลิเวอรี่ ที่มีอัตราการเติบโตมากถึง 150% จากปี 2562 ส่งผลให้ปี  2563  ที่ผ่านมามีรายได้ 2,000 ล้านบาท  
 
 
นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี กล่าวว่า  แนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2564 นี้  บริษัทมีแผนที่จะ TRANSFORMFOR THE FUTURE  ธุรกิจภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก คือ
 
1.New way to serve customers   หรือการผนึกกำลังร้านอาหาร 16 แบรนด์ ชูจุดขายใหม่ Shop in Shop- Cross Sale  โดยอาศัยจุดแข็งด้านเครือข่ายร้านอาหารทั้ง 16 แบรนด์ กว่า 1,100   สาขา มีพนักงาน 10,000 คน และเมนูที่มีมากกว่า 800 เมนู  โดยการเน้นทำการตลาดไปที่รูปแบบร้านแนวใหม่ Shop in Shop ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำร่องเปิดเคาน์เตอร์อาริกาโตะร่วมกับร้านมิสเตอร์ โดนัทไปบ้างแล้ว
 
นอกจากนี้  ซีอาร์จี  ยังมีแผนที่จะใช้กลยุทธ์ Cross Sale ของทุกแบรนด์ในเครือ เช่น นำเมนูจาก บราวน์ คาเฟ่ (Brown Café) ขายในร้านคัตสึยะเพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ๆและตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะขยายสาขาที่มีบริการ Cross Sale ได้มากกว่า 400 สาขา  เนื่องจากมีการผนึกกำลังกันของแบรนด์ร้านอาหารในเครือ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ ซึ่งล่าสุด ซีอาร์จี  ได้มีการนำแบรนด์ไทยเทอเรส และอร่อยดี  มาดำเนินการพัฒนาเมนูอาหารมากกว่า 10 เมนู  จากการนำใบกัญชาออร์แกนิกมาปรุงในอาหาร  ซึ่งหากประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  ซีอาร์จี  ก็มีแผนที่จะขยายไปยังร้านอาหารแบรนด์อื่นๆ ต่อไป
 
 
สำหรับกลยุทธ์ที่ 2  คือ New way to expand  หรือการมองหาพื้นที่ใหม่ๆ โดยการให้ความสำคัญกับการขยายสาขานอกห้างสรรพสินค้า ซึ่งเร็วๆนี้  ซีอาร์จี  มีแผนที่จะเปิดตัว Mobile Box Model ในสถานีบริการน้ำมันและมินิคีย์ออส (Mini Kiosk) ต่อจากโมเดลร้านเดลโก้ (Delco) ที่เปิดตัวก่อนหน้านี้  เพื่อความคล่องตัวในการขยายสาขา  และการขายแฟรนไชส์ผ่านโมเดลดังกล่าว ซึ่งปีนี้ ซีอาร์จี  มั่นใจว่าจะได้เห็นกลยุทธ์การทำตลาดในรูปแบบดังกล่าวกับร้านอาหารในเครืออีกหลายๆแบรนด์อย่างแน่นอน
 
ขณะที่กลยุทธ์ที่ 3 คือ Delivery & Cloud Kitchen จะเป็นในเรื่องของการวางเป้าหมายในการขยายจุดบริการเดลิเวอรี่ให้มีความครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากที่สุด ส่วนแผนการขยายสาขาคลาวด์คิทเช่น ซีอาร์จี จะขยายให้ครบ 15 สาขาภายในปีนี้ และจะเดินหน้าขยายทั่วประเทศต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 50  สาขา  ภายในปี 2566  หรือเฉลี่ยการขยายสาขามากกว่า 1 สาขาต่อเดือน จากปัจุบันที่มีการขยายสาขาเฉลี่ยเดือนละ 1 สาขา 
 
ส่วนกลยุทธ์ที่ 4 คือ Godigital&Omnichanel  หรือการมุ่งโฟกัสไปที่ O2O หรือ Online to Offline (ออนไลน์ทูออฟไลน์) ด้วยการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซและระบบแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชั้นนำต่าง ๆ เช่น JD Central,Shopee และ LAZADA ซึ่งหลังจากหันมารุกทำตลาดออนไลน์มากขึ้น ซีอาร์จี  มีแผนที่จะขยายสัดส่วน  New Economy เพิ่มเป็น 30%  หรือตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ในปี 2564  นี้  ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563  ที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท  เนื่องจากยอดขายสินค้าในรูปแบบเดลิเวรีมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในร้านที่เปิดใหม่ เช่น ร้าน salad factory  ที่ปัจจุบันมียอดขายในช่องทางออนไลน์เติบโตสูงถึง 400 % 
 
สำหรับกลยุทธ์สุดท้าย  ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ 5 คือ New Brand & Business ในปีนี้ ซีอาร์จี มีแผนที่จะเปิดตัวร้านอาหารแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 แบรนด์  ควบคู่ไปกับการจับมือร่วมมือกับพาร์ตเนอร์รายใหม่ในการขยายธุรกิจ  เพื่อลดความเสี่ยง  เพราะหลังจากทดลองใช้กลยุทธ์ดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมาพบว่า  เป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจที่สามารถฝ่าวิกฤตโรคโควิด-19  ได้  เนื่องจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และสามารถผลักดันยอดขายในปีที่ผ่านมาให้มีอัตราการเติบโตได้มากกว่า 2 เท่า  ถือเป็นการทำธุรกิจในรูปแบบ win-win ทั้งสองฝ่าย
 
 
จากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ในปี 2564 นี้ ซีอาร์จี ได้มีการวางงบลงทุนในการขยายธุรกิจไว้ที่ประมาณ 1,000 ล้าน  แบ่งเป็นการใช้ขยายสาขาประมาณ 600-700 ล้านบาท รีโนเวทสาขาเดิมประมาณ 300 ล้านบาท และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายประมาณ 3% ของงบการตลาดรวม 
 
นายณัฐ  กล่าวปิดท้ายว่า  ในปี 2563  ที่ผ่านมาภาพรวมธุรกิจร้านอาหาร มีมูลค่าประมาณ 4 แสนล้าน มีการขยายตัวลดลงประมาณ 10% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ซึ่งในส่วนของบริษัทก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบดังกล่าวเช่นกัน  แต่อย่างไรก็ดี  หลังจากบริษัทมีการปรับแผนการทำตลาดบริษัทมั่นใจว่าในปี 2564  นี้จะกลับไปมีรายได้ใกล้เคียงกับปี 2562  ด้วยการมีรายได้อยู่ที่ 12,000 ล้าน เติบโต 20% และมีการขยายสาขาเพิ่มเป็น 1,300 สาขา  เนื่องจากบริษัทมีการเปิดกว้างทางธุรกิจและพร้อมที่จะต้อนรับ partner ใหม่ๆเข้ามาร่วมกับแบรนด์ ในขณะเดียวกันก็มีการต่อยอดเน็ตเวิร์คกว่า 1000 จุด  เพื่อรองรับการให้บริการในรูปแบบเดลิเวอรีที่จะมีการขยายบริการเพิ่มมากขึ้น 
 
นอกจากนี้ การนำกัญชามาเป็นส่วนหนึ่งในเมนูในร้านอาหารอย่างเช่น ร้านไทยเทอเรส ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม  เพราะหลังจากเริ่มให้บริการลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ดี นายณัฐ  บอกว่า  ยังไม่มีแผนที่จะทำการตลาดในรูปแบบดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะเรื่องของกัญชง-กัญชาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และ ซีอาร์จี ก็มีสินค้าที่ขายให้กับเยาวชน จึงต้องระมัดระวังในเรื่องดังกล่าวพอสมควร ส่วนภาพรวมในช่วง 3 เดือนแรกที่ผ่านมาของปี 2564 นี้  ซึอาร์จี เริ่มมีรายได้ที่ดีขึ้น  และมีความหวังว่าช่วงเดือนเม.ย. นี้  จะดีขึ้นกว่าเดิม เพราะมีเทศกาลสงกรานต์
 

LastUpdate 03/04/2564 11:48:26 โดย : Admin
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 10:40 pm