การตลาด
สกู๊ป ''เดอะมอลล์'' เปิดยุทธ์ศาสตร์ Digital Commerce Retail บุกตลาด ''อี-คอมเมิร์ซ''


จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ที่ออกมาระบุว่า มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย หรือ อีคอมเมิร์ซ มีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 81%  ในปี 2563 ซึ่งตลาดอี-คอมเมิร์ซที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด คือ อี-คอมเมิร์ซแบบ B2C (Business to Customer ธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการระหว่างเจ้าของธุรกิจและผู้บริโภครายบุคคล) มีอัตราการเติบโตสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 4.02 ล้านล้านบาท  ในปี 2562 หรือเติบโตขึ้น 6.91% จากปี 2561 ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.76 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 2.76 ล้านล้านบาท ถึง 36.36%

แนวโน้มที่ดีดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกเริ่มหันมาให้ความสนใจการทำตลาดในรูปแบบดังกล่าวกันมากขึ้น  เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากตลาดอี-คอมเมิร์ซพอสมควร  เพราะผู้บริโภคส่วนหนึ่งหันไปจับจ่ายซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ประกอบกับปี 2563 ที่ผ่านมา  ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ค่อนข้างหนัก จึงทำให้ต้องหันมาทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น  ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ต้องออกมาประกาศยุทธ์ศาสตร์ Digital Commerce Retail เพื่อพัฒนาช่องทางการตลาดแบบ Omni Channel Retail อย่างเต็มรูปแบบ
 
 
น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารเดอะมอลล์ ดิเอ็มโพเรียม ดิเอ็มควอเทียร์ และพารากอนดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ กล่าวว่า  แนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้บริษัทมีแผนที่จะเดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล 5.0 โดยการดึง AI-Analytics เข้ามาใช้ ภายใต้โรดแมพ แผนยุทธศาสตร์ Digital Commerce Retail เพื่อพัฒนาช่องทางการตลาดแบบ Omni Channel Retail อย่างเต็มรูปแบบผ่านโมเดลธุรกิจ O2O ให้เติบโตควบคู่กันไประหว่างห้างร้านสู่ดิจิทัลคอมเมิร์ซ โดยเริ่มต้นจากการเปิดตัว เว็บไซต์ MONLINE.COM ก่อนขยายไปสู่ SOCIAL COMMERCE และ MARKET PLACE
 
ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา เดอะมอลล์ ถือเป็นธุรกิจค้าปลีกรายแรกที่มีการเปิดตัวเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ ภายใต้ชื่อ www.mglobemall.com แต่เปิดได้เพียง 1 ปี ก็ต้องปิดตัวลงเพราะประสบปัญหาขาดทุน และอินฟราสตรักเจอร์ที่ไม่พร้อม ทำให้ลูกค้าไม่สะดวกในการเข้าถึงและใช้งาน แต่วันนี้เทคโนโลยีมีการพัฒนาผู้บริโภคเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น จึงทำให้ เดอะมอลล์ มีความมั่นใจที่จะเข้ามาทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอย่างจริงจังอีกครั้งในวันนี้ 
 
น.ส.ศุภลักษณ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกทั่วโลกมีความกังวลมากที่สุดในตอนนี้  คือ อนาคตของธุรกิจค้าปลีกจะเดินหน้าอย่างไร โดยเฉพาะการเข้ามาและเติบโตอย่างรวดเร็วของอี-คอมเมิร์ซ  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวและมุ่งตอบโจทย์ลูกค้าให้มากที่สุด โดยเฉพาะการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล 5.0
 
สำหรับภาพรวมการทำตลาดของผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซไทย  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาร์เก็ตเพลสยังคงมุ่งไปที่การแข่งขันในเรื่องของราคาเป็นหลัก ส่วนกลุ่มอี-รีเทลเลอร์ถือว่ายังมีน้อยราย เดอะมอลล์  จึงมองเห็นเป็นโอกาสที่จะใช้จุดแข็งของความเป็นรีเทลเลอร์ที่มีความน่าเชื่อถือ  และการมีแบรนด์สินค้าลักชัวรีชั้นนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำตลาด เพื่อเติมพอร์ตสินค้าให้มีความครบครัน ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ให้กับลูกค้า
 
 
ปัจจุบันตลาดอี-คอมเมิร์ซไทย มีการแบ่งตลาดออกเป็น  3  กลุ่มหลัก ดังนี้  1.E-Marketplace มีสัดส่วนตลาดประมาณ 47%  2.Social Commerce มีสัดส่วนตลาดประมาณ 38% และ 3.E-Retailers/Brands.com มีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ประมาณ 15%
 
น.ส.ศุภลักษณ์  กล่าวอีกว่า การสื่อสารที่ต่อเนื่องและเข้าถึงลูกค้า รวมถึงมีข้อมูลจากฐานสมาชิกจำนวนกว่า 4.5 ล้านคน ถือเป็น Big Data ที่จะทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง  เพราะสิ่งนั้น คือ “จุดแข็งของรีเทลเลอร์”  ที่ต้องมีสินค้าที่ครบครัน และมีสินค้าที่เป็นเอ็กซ์คลูซีพมีขายเฉพาะที่นี่เท่านั้น แม้ว่า  M Online จะมาทีหลัง แต่บริษัทก็รู้ว่าจะแบทเทิร์นแบบไหนแล้วจะ win 
 
ด้าน น.ส.วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ใช้เวลาในการพัฒนาดิจิทัลคอมเมิร์ซ 18 เดือนใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ในการเปิดตัวแพลตฟอร์ม M ONLINE และ GOURMET MARKET THAILAND ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นคิกออฟช่องทางออนไลน์ที่ดี  โดยกลยุทธ์ที่บริษัทจะนำมาใช้ เพื่อสร้างการรับรู้มีอยู่ด้วยกัน  3 กลยุทธ์หลัก  คือ Customer Centric , Partner Centric และ Content Centric
 
นอกจากนี้ เดอะมอลล์  ยังมีแผนที่จะปรับกลยุทธ์ ‘เดอะมอลล์ ดิ ออลล์’ เป็น ‘เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์’ อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการพัฒนาห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าให้กลายเป็น ‘เดสซิเนชั่น’ (Destination) หรือจุดหมายที่ผู้บริโภคมาใช้ชีวิต มาเติมเต็มไลฟ์สไตล์ ทั้งช้อปปิ้ง และหาความบันเทิง (Retail & Entertainment)  เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าในยุคดิจิทัล ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ในทุกที่ทุกเวลา
 
 
ดังนั้น  เดอะมอลล์  จึงต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้า ด้วยการหันมารุกตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง โดยคาดว่าทำการพัฒนาหลังบ้านเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดได้ภายใน 2 เดือนนับจากนี้ ซึ่งหลังจากนั้นคาดว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเพจวิวในปีนี้  และส่งผลให้มีรายได้จากช่องทางออนไลน์ไม่ต่ำกว่า  2,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนรายได้ 15% จากรายได้รวมภายใน 3 ปี และเพิ่มเป็น  25%  ภายใน 5 ปี จากผลประกอบการรวมทั้งหมดของเดอะ มอลล์ กรุ๊ป
 
สำหรับภาพรวมการลงทุนขายธุรกิจในปีนี้มีแผนที่จะใช้งบลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ในการปรับปรุงเดอะมอลล์ จำนวน 5 สาขา ซึ่งได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ประกอบด้วย งามวงศ์วาน ปรับปรุงเสร็จแล้วไปตั้งแต่ปี 2563 และในปี 2564 นี้จะปรับที่สาขาท่าพระ, บางแค, บางกะปิ และรามคำแหง ส่วนการขยายศูนย์การค้าใหม่ยังคงทำตามแผนโรดแม็ป 5 ปี เช่นกัน (ปี 2562-2566) ด้วยงบกว่า 60,000 ล้านบาท ใน 2 โครงการใหญ่ คือ ‘ดิ เอ็มสเฟียร์’ และ ‘บางกอกมอลล์’ 

LastUpdate 03/04/2564 11:38:18 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:17 am