กองทุนรวม
กองทุนรวม ESG เมืองไทยโตก้าวกระโดด


ย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา กองทุนรวม ESG ในสหรัฐอเมริกาสร้างสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิในกองทุนเปิดและกองทุน ETF รวมทั้งหมด 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี 2562 ที่ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 10 เท่าของปี 2561 ที่ไหลเข้าเพียง 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 
 
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ และ Morningstar Thailand อยากให้มองกลับมาที่ประเทศไทยนั้น ถือได้ว่ามีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2563 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท เติบโตมากกว่า 4 เท่าจากปี 2562 ที่มีมูลค่ารวมราว 5 พันกว่าล้านบาท และจากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมเพิ่มขึ้นไปที่ 3.4 หมื่นล้านบาท

การเติบโตที่สูงขึ้นต่อเนื่องของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวม ESG ในประเทศไทย มีสาเหตุหลักมาจากเม็ดเงินไหลเข้าในหลายกองทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยเม็ดเงินไหลเข้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงปี 2562 ที่ระดับ 3.1 พันล้านบาท และสูงขึ้น 5 เท่าในปี 2563 ที่มีเม็ดเงินไหลเข้า 1.5 หมื่นล้านบาท และเพียงสองเดือนแรกของปี 2564 ก็มีเงินไหลเข้าสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาทแล้ว
 

ในด้านทรัพย์สินที่ลงทุนนั้น มูลค่าการลงทุนยังกระจุกตัวที่กองทุนรวม ESG ต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีมูลค่ารวมสูงสุดในกลุ่มหุ้นทั่วโลก รองลงมาได้แก่ กลุ่มหุ้นอุตสาหกรรมทั่วโลก กลุ่มหุ้นตลาดเกิดใหม่ และกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ตามลำดับ
 
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทุนรวม ESG ได้รับการตอบรับจากนักลงทุน เนื่องจากมีการเติบโตที่ดี มีตัวเลือกการลงทุนที่หลากหลาย ที่สำคัญกองทุนประเภทนี้มีประวัติผลการดำเนินงานที่ดี และถึงแม้ว่ากองทุนรวมประเภทนี้ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่ แต่จากข้อมูลเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 

สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยก็มีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และกำลังพัฒนาที่จะนำไปสู่มาตรฐานที่ดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน
 
สำหรับกองทุนหลัก (Master Fund) ที่มีเม็ดเงินจากนักลงทุนไทยไหลเข้ามากที่สุด ได้แก่ Baillie Gifford Positive Change, BGF Sustainable Energy และ Janus Henderson Horizon Global Sustainable Equity โดยทั้งหมดมีแนวทางการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
 
หากมองในแง่ของผลตอบแทน ถึงแม้ทั้ง 3 กองทุนดังกล่าวจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ปีที่ผ่านมากองทุน Baillie Gifford Positive Change สร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าประทับใจสูงถึง 80.08% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าไปถือหุ้น Tesla ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ขณะที่กองทุน BGF Sustainable Energy ให้ผลตอบแทน 47.34% และกองทุน Janus Henderson Horizon Global Sustainable Equity ให้ผลตอบแทน 33.60%

และช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 นี้ กองทุน Baillie Gifford Positive Change ยังสร้างผลตอบแทนเป็นบวกที่ระดับ 3.45% ขณะที่อีก 2 กองทุน ผลตอบแทนติดลบ


ปัจจุบันการลงทุนอาจไม่ใช่เพียงการแสวงหาสร้างผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่มีการคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ซึ่งจะช่วยให้มีการพิจารณาความเสี่ยงจากการลงทุนที่รอบด้านมากขึ้น และอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การลงทุนในกองทุนยั่งยืนจะยังเป็นเทรนด์ที่เติบโตได้ และในอนาคตจะเห็น บลจ.ไทย ออกกองทุนรวม ESG เพื่อให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนมากขึ้น
 
แม้ว่าการลงทุนอย่างยั่งยืน ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่ดีได้ แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนของพอร์ตลงทุนได้ อีกทั้งการลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์การลงทุนในระยะยาวที่กำลังเติบโตมากขึ้น ดังนั้น อาจจะเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนควรเริ่มหันมาศึกษาและสนใจการลงทุนอย่างยั่งยืน โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ เวบไซด์ตลาดหลักทรัพย์ฯ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 เม.ย. 2564 เวลา : 10:44:29
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 9:26 pm