ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท อาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ทุนอัจฉริยภาพนักวิจัยรุ่นกลาง ประจำปี 2564 วช. มุ่งวิจัยรักษาอาการท้องร่วงในผู้ป่วยมะเร็ง
แม้ในปัจจุบันโลกกำลังถูกคุกคามด้วยภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ “โรคมะเร็ง” ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกในอันดับต้นๆ ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการติดเชื้อในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีร่างกายไม่แข็งแรง
กว่า 10 ปีของการเป็นทั้ง "นักวิทยาศาสตร์" และ "อาจารย์แพทย์นักวิจัย" ซึ่งมีผลงานวิจัยโดดเด่นทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
พื้นฐาน (Basic Medical Science) เกี่ยวกับสรีรวิทยา เภสัชวิทยา และโรคของระบบทางเดินอาหาร รวมประมาณ 80 เรื่อง ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สั่งสมความรู้ ประสบการณ์ เทคโนโลยี จนสามารถค้นพบกลไกการเกิดโรคท้องร่วง ตลอดจนสารที่ออกฤทธิ์ในการรักษาโรคท้องร่วง ก้าวต่อไปจะต่อยอดศึกษาถึงกลไกการเกิดภาวะความเป็นพิษภายในลำไส้ รวมถึงอาการท้องร่วงในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ด้วยทุนอัจฉริยภาพนักวิจัยรุ่นกลาง ประจำปี 2564 ที่ได้รับจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเร็วๆ นี้
“ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่จะต้องได้รับยาเคมีบำบัด ซึ่งยาบางชนิดมีผลข้างเคียง หรือความเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องร่วง ซึ่งอาจรุนแรงจนต้องลด หรือหยุดยา ทำให้ไม่สามารถรักษาได้อย่างต่อเนื่อง และในบางรายอาจถึงแก่ชีวิตจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอาการท้องร่วงรุนแรงในผู้ป่วยมะเร็งดังกล่าวเกิดจากกลไกใด และยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ผลจากงานวิจัยกลไกการเกิดและแนวทางการรักษาอาการท้องร่วงในผู้ป่วยมะเร็งนี้จะเป็นต้นแบบสารที่ออกฤทธิ์ป้องกัน และรักษาความเป็นพิษในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากยารักษาโรคมะเร็ง และจะมีการดำเนินการจดสิทธิบัตรเพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นยาหรือเภสัชภัณฑ์ที่สามารถใช้รักษาอาการท้องร่วงได้จริงในผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ต่อไป" ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท กล่าว
ทุนอัจฉริยภาพนักวิจัย จัดตั้งเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ.2564 โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อมอบแก่นักวิจัยที่มีศักยภาพสูงให้ได้ทำวิจัยอย่างต่อเนื่องตามศักยภาพและความถนัดของตน เพื่อให้สามารถผลิตผลงานที่มีศักยภาพเชิงวิชาการ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยในประเภทนักวิจัยรุ่นกลาง กำหนดมอบแก่นักวิจัยที่มีการทำงานไม่เกิน 15 ปี และวางแผนจะทำงานวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัยอย่างน้อย 4 เรื่องภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งผลจากงานวิจัยจะต้องสามารถต่อยอดสู่การสร้างเครือข่าย นวัตกรรม และนักวิจัยรุ่นใหม่ได้ โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ฉัตรชัย เหมือนประสาท ในฐานะอาจารย์แพทย์ประจำหลักสูตรเวชศาสตร์ปริวรรต (Translational Medicine) ซึ่งเป็นหลักสูตรเปิดสอนที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปีพ.ศ.2556 โดยเป็นการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science) และวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (clinical science) ซึ่งนำเอาปัญหาทางคลินิกมาใช้ในห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาวิจัยเชิงลึกสำหรับการค้นคว้าหาแนวทางใหม่ที่ใช้ได้จริงในการดูแลรักษาผู้ป่วย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า พร้อมมุ่งมั่นที่จะเป็นกำลังสำคัญในการผลิตแพทย์นักวิจัย ซึ่งจะเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อดูแลสุขภาวะของประชาชนชาวไทยต่อไป
ข่าวเด่น