เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง GDP ไทยไตรมาส 2/2021 ขยายตัว 7.5% จากปัจจัยฐานต่ำ โดยมีแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและเม็ดเงินภาครัฐ


- เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2021 ขยายตัวที่ 7.5%YOY จากฐานต่ำในปีก่อนหน้าเป็นสำคัญ ขณะที่การเติบโตที่ 0.4%QOQ_sa สะท้อนว่าเศรษฐกิจค่อนข้างทรงตัวและมีแรงส่งค่อนข้างน้อย โดยเศรษฐกิจไทยมีความแตกต่างกันมากในแง่ของการฟื้นตัว (uneven) ระหว่างสาขาเศรษฐกิจ กล่าวคือ ภาคส่งออกสินค้าฟื้นตัวได้ดี ควบคู่ไปกับเม็ดเงินภาครัฐที่อัดฉีดเข้าสู่เศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชน (การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน) ในประเทศยังซบเซาและได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว โดยหดตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันจากผลของการระบาดระลอกที่ 3 และหากพิจารณาด้านการผลิต เศรษฐกิจไทยก็มีความแตกต่าง (uneven) เช่นกัน โดยภาคเกษตรฟื้นตัวได้ดีตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยขึ้น ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมฟื้นตัวตามภาคการส่งออกสินค้า แต่ภาคบริการยังหดตัวและเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

- ในระยะต่อไป EIC คาดเศรษฐกิจไตรมาส 3/2021 จะยังทรุดตัวต่อเนื่องจากการระบาดที่ยืดเยื้อ รวมถึงผลของมาตรการล็อกดาวน์ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2021 ที่ผ่านมา โดยหากพิจารณาข้อมูลดัชนีชี้วัดความเคลื่อนไหว (Mobility) ของทั้ง Google และ Facebook ให้ภาพตรงกันว่าผลกระทบของการระบาดได้ปรับแย่ลงเพิ่มเติม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสสูงที่จะปรับลดลงเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 3 ขณะที่หากสามารถควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนก็จะช่วยให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน และทำให้มาตรการล็อกดาวน์ผ่อนคลายลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น
 
- ในภาพรวม ตัวเลข GDP ล่าสุดยังสอดคล้องกับการประมาณการของ EIC ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2021 จะขยายตัวในกรณีฐานที่ 0.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่พึ่งพาการส่งออกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
 
- ของภาครัฐเป็นสำคัญ ขณะที่การระบาดในประเทศอย่างต่อเนื่องได้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงทำให้ปัญหาแผลเป็นเศรษฐกิจด้านการเปิดปิดกิจการ ตลาดแรงงาน และภาระหนี้ ปรับแย่ลง จึงทำให้เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มซบเซาและฟื้นตัวช้า
 
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอีกหลายประการ โดยเฉพาะในส่วนของการระบาดในประเทศรอบปัจจุบันที่มีโอกาสปรับแย่มากกว่าคาด ทั้งในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อและระยะเวลาในการควบคุมโรค รวมถึงการฉีดวัคซีน
ที่อาจล่าช้าออกไปเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการปิดโรงงานหลายแห่งที่อาจกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออกได้ ขณะที่อาจมีความเสี่ยงภาครัฐจากเม็ดเงินมาตรการที่อาจออกมาน้อยกว่าคาด และความเสี่ยงสุดท้ายคือการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ที่อาจต้านทานวัคซีนได้ดีกว่าเดิม ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

*Key points

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2021 ขยายตัว 7.5%YOY หลังจากหดตัว -2.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบหักผลทางฤดูกาล (%QOQ_sa) เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.4% QOQ_sa (เทียบกับ 0.2% QOQ_sa ในไตรมาสที่ 1/2021)
 
 

ในด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) พบว่าทุกภาคเศรษฐกิจขยายตัวได้จากปัจจัยฐานต่ำ ยกเว้นการส่งออกภาคบริการที่ยังหดตัวต่อเนื่อง

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงขยายตัวในอัตราเร่งที่ 30.7%YOY โดยมีสาเหตุหลักจากปัจจัยฐานต่ำใน Q2/2020 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การส่งออกไทยขยายตัวดี โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
 
การลงทุนภาครัฐขยายตัว 5.6%YOY โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ขยายตัวดีที่ 9.0%YOY ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรพลิกกลับมาหดตัวที่ -4.7%YOY ในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวที่ 1.1%YOY ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า
 
การบริโภคภาคเอกชนพลิกกลับมาขยายตัวที่ 4.6%YOY หลังจากที่หดตัวเล็กน้อยที่ -0.5%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการขยายตัวในครั้งนี้เป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำใน Q2/2020 เป็นหลักประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีส่วนช่วยเหลือบางส่วน ทั้งนี้หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบหักผลทางฤดูกาล การใช้จ่ายบริโภคภาคเอกชนหดตัว -2.5%QOQ_sa สะท้อนผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 ที่เริ่มในเดือนเมษายน
 
การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวที่ 9.2%YOY เป็นผลจากการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือที่ปรับตัวดีขึ้น (12.2%YOY) ตามภาคส่งออกสินค้า ขณะที่การลงทุนด้านการก่อสร้างยังคงหดตัวที่ -0.2%YOY อย่างไรก็ดี
 
หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล การลงทุนเอกชนหดตัวที่ -2.5%QOQ_sa เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบล่าสุด
 
การส่งออกภาคบริการหรือการท่องเที่ยวยังหดตัวต่อเนื่องที่ -1.9%YOY โดยสถานการณ์ดีขึ้นจากรายรับค่าบริการขนส่งสินค้าและค่าประกอบธุรกิจอื่น ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวและรายรับค่าโดยสารยังคงหดตัวในระดับสูง เนื่องจากยังคงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาน้อย
 
มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวในอัตราเร่งที่ 32.2%YOY ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า ขณะที่การนำเข้าบริการพลิกกลับมาขยายตัว 28.2%YOY จากเดิมที่หดตัว -15.4%YOY ในไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นตามค่าบริการขนส่งสินค้าเป็นสำคัญ ในขณะที่รายจ่ายค่าท่องเที่ยวยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง
 

ในด้านการผลิต (Production Approach) ทุกภาคการผลิตขยายตัวจากปัจจัยฐานต่ำเป็นสำคัญ

ภาคเกษตรขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ 2.0%YOY จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.3%YOY  ตามการขยายตัวของผลผลิตพืชหลัก ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา สับปะรด และมันสำปะหลัง
ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราเร่งที่ 16.8%YOY ตามการขยายตัวของภาคส่งออกเป็นสำคัญ
สาขาการค้าส่งและการค้าปลีกพลิกกลับมาขยายตัว 5.5%YOY จากที่หดตัว -2.2%YOY ในไตรมาสแรก
โดยเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่อและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 13.2%YOY จากการลดลง -35.5%YOY ในไตรมาสแรก โดยเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำ การท่องเที่ยวในประเทศที่ยังดำเนินกิจกรรมได้ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม รวมถึงมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายบางส่วน

*Implications

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2021 ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบที่ 3 ทำให้เศรษฐกิจยังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยจากการที่ฐานต่ำผิดปกติในช่วงปีก่อนหน้า ทำให้การวิเคราะห์ตัวเลขแบบ %YOY ที่มีอัตราเติบโตสูงมากอาจให้ภาพที่ไม่ตรงกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จึงต้องใช้การวิเคราะห์แบบ %QOQ_sa ซึ่งพบว่าในภาพรวม GDP ขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.4%QOQ_sa ในไตรมาส 2 (หลังจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวเล็กน้อยเช่นกันที่ 0.2%QOQ_sa) นับเป็นการทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องจากเมื่อปลายปีก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบของการระบาดรอบที่ 3 ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน แม้จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคส่งออกและภาครัฐก็ตาม ทั้งนี้สภาพเศรษฐกิจดังกล่าวสอดคล้องกับที่ EIC เคยคาดไว้ แต่ตัวเลขจริงออกมาดีกว่าตลาดคาด  สะท้อนจากค่ามัธยฐาน (Median) ของ Bloomberg consensus ที่คาดไว้ว่า GDP ไตรมาส 2/2021 จะขยายตัวเพียง 6.6%YOY หรือหดตัวที่ -1.1%QOQ_sa (EIC คาด 6.4%YOY และ -1.2%QOQ_sa) ซึ่งแตกต่างจากตัวเลขจริงที่ %QOQ_sa ยังขยายตัวได้ ทำให้เศรษฐกิจไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค[1] (Technical recession) ในช่วงไตรมาส 3 นี้

เศรษฐกิจไทยยังมีความแตกต่างในการฟื้นตัวมาก (Uneven) โดยหากพิจารณาด้านการใช้จ่าย จะพบว่าภาคส่งออกจะฟื้นตัวได้ดี ขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศซบเซาจากผลของการระบาด
โดยหากพิจารณารูปที่ 3 (ซ้าย) จะเห็นได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคส่งออกสินค้าเป็นสำคัญ ซึ่งแม้ว่า contribution ของการส่งออกสุทธิ (Net exports) จะเป็นลบ เนื่องจากการนำเข้าก็ขยายตัว
ในระดับสูง แต่การส่งออกก็ยังสนับสนุนเศรษฐกิจทางอ้อม ทั้งจากรายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานในภาคส่งออกที่ปรับดีขึ้น รวมถึงส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือที่ปรับเพิ่มขึ้นตามสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภทเพื่อรองรับ
คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เช่น พลาสติก ยางสังเคราะห์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องประดับ และอัญมณี เป็นต้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังอัดฉีดเม็ดเงินเข้าเศรษฐกิจต่อเนื่องในไตรมาส 2 ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะด้านการก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินช่วยเหลือเยียวยาประชาชนจากมาตรการต่าง ๆ อาทิ โครงการเราชนะ โครงการ ม33 เรารักกัน เป็นต้น ซึ่งจะถูกบันทึกอยู่ในการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ดี อุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว สะท้อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีอัตราเติบโตแบบ %QOQ_sa ติดลบติดต่อกันสองไตรมาส เนื่องจากผลกระทบของการระบาดระลอกที่ 3 เป็นสำคัญ

ในด้านการผลิต เศรษฐกิจไทยมีความแตกต่างในการฟื้นตัว (Uneven) เช่นเดียวกัน โดยภาคการเกษตรและการผลิตอุตสาหกรรมยังเติบโตได้ แต่ภาคบริการยังซบเซาต่อเนื่อง จากรูปที่ 3 ขวา จะเห็นได้ว่าผลผลิตภาคเกษตรฟื้นตัวได้ดีตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาคส่งออกสินค้า อย่างไรก็ดี ภาคบริการที่ประกอบไปด้วยหลายภาคธุรกิจสำคัญ อาทิ ค้าส่งค้าปลีก ขนส่ง โรงแรม และร้านอาหาร เป็นต้น ยังคงมีการหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการระบาดระลอก 3 ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจบริการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่เชื้อ ทำให้ภาคบริการได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน จากการที่มีการหดตัวแบบ %QOQ_sa ติดต่อกันสองไตรมาส ทั้งนี้ภาคบริการนับเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของไทยทั้งในมิติของสัดส่วน GDP และการจ้างงาน โดยมีสัดส่วนราว 62.8% ของ GDP ในปี 2020 และ 46.6% ของการจ้างงานรวม (ราว 17.6 ล้านคน) ดังนั้น การที่เศรษฐกิจภาคบริการยังคงถูกกดดันจากการระบาด ย่อมทำให้เศรษฐกิจโดยรวมยังซบเซา แม้จะได้รับอานิสงส์บางส่วนจากการฟื้นตัวของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมก็ตาม 
 
 

สำหรับในระยะต่อไป คาดเศรษฐกิจไตรมาส 3/2021 จะยังทรุดตัวต่อเนื่องจากการระบาดที่ยืดเยื้อ ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/2021 โดยเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2021 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และกิจการอื่น ๆ ไม่สามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ ขณะที่ประชาชนก็มีความกังวลในการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงรายได้ของหลายภาคธุรกิจก็จะปรับลดลงมาก โดยเฉพาะธุรกิจประเภท face-to-face เช่น โรงแรม ร้านอาหาร นวด สปา และธุรกิจกลางคืน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลลบต่อเนื่องไปยังรายได้และสภาพการจ้างงานของลูกจ้าง โดยหากพิจารณาข้อมูลเร็ว (High Frequency data) จะเห็นได้ชัดเจนว่าดัชนีชี้วัดความเคลื่อนไหว (Mobility) ของทั้ง Google และ Facebook ให้ภาพตรงกันว่าผลกระทบของการระบาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ปรับแย่ลงกว่าในช่วงก่อนหน้า สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยอาจปรับแย่ลงเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 3 ขณะที่ในไตรมาส 4 คาดเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน โดยคาดว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 จะมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มประมาณ 30-40% ของประชากร ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทเริ่มกลับมาเปิดได้อย่างเต็มที่ อาทิ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สถานเสริมความงาม รวมถึงการท่องเที่ยวจากทั้งคนไทยและคนต่างชาติ เป็นต้น
 

ในภาพรวม เศรษฐกิจไทยปี 2021 จะเป็นอีกปีที่ซบเซาจากผลกระทบของการระบาดในประเทศเป็นสำคัญ แต่จะได้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีและมาตรการภาครัฐ โดยแม้การค้าโลกจะปรับชะลอลงบ้างในช่วงหลัง แต่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในส่วนของเศรษฐกิจในประเทศ คาดว่าจะซบเซาต่อเนื่องจากผลกระทบของการระบาดในประเทศรอบปัจจุบัน รวมถึงปัญหาแผลเป็นเศรษฐกิจ (economic scars) ที่มีแนวโน้มปรับแย่ลงเพิ่มเติม ได้แก่ การเปิดปิดกิจการที่อาจปรับแย่ลง ภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น และภาระหนี้ของภาคประชาชนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวในอนาคต อย่างไรก็ดี ยังมีมาตรการภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ ซึ่ง EIC คาดว่าภาครัฐจะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ทำให้ในภาพรวมจะใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทจนหมด และจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท อีก 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอีกหลายประการ โดยเฉพาะในส่วนของการระบาดในประเทศรอบปัจจุบันที่มีโอกาสปรับแย่มากกว่าคาด ทั้งในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อและระยะเวลาในการควบคุมโรค รวมถึงการฉีดวัคซีนที่อาจล่าช้าออกไปเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการปิดโรงงานหลายแห่งที่อาจกระทบต่อภาคการผลิตและส่งออกได้ ขณะที่ความเสี่ยงด้านภาครัฐก็มีจากมาตรการพยุงเศรษฐกิจที่อาจออกน้อยกว่าที่คาด และความเสี่ยงสุดท้ายคือการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ที่อาจต้านทานวัคซีนได้ดีกว่าเดิม ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยสรุป ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ออกมา ยังคงสอดคล้องกับคาดการณ์ล่าสุดของ EIC ที่มองไว้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2021 จะเติบโตที่ 0.9% ซึ่งในระหว่างนี้ EIC กำลังทำการวิเคราะห์โดยละเอียดจากสถานการณ์ในปัจจุบัน และจะมีการเผยแพร่ประมาณการอีกครั้งในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้
 
บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIChttps://www.scbeic.com/th/detail/product/7740  

ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์
 

พนันดร อรุณีนิรมาน,นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
 

วิชาญ กุลาตี, นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

EIC Online: www.scbeic.com

Line : @scbeic

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ส.ค. 2564 เวลา : 09:50:31
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 8:54 am