หุ้นทอง
มุมมองอัตราแลกเปลี่ยน-เงินทุนเคลื่อนย้าย-การเงินไตรมาส 4


มุมมองอัตราแลกเปลี่ยน-เงินทุนเคลื่อนย้าย-การเงินไตรมาส 4


มุมมองอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงไตรมาส 4 ปี 2021
 
 
ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เงินบาทมีความผันผวนในทิศทางอ่อนค่ามากที่สุดสกุลหนึ่งในภูมิภาคเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่ามากมาจากปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยเงินทุนเคลื่อนย้าย ปัจจัยพื้นฐาน คือ การที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมาก จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นสูง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย บอกว่า จึงทำให้กระทบต้นทุนการนำเข้า ขณะที่รายรับจากการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ถึงแม้ไทยจะเกินดุลการค้า แต่ก็เกินดุลน้อยลงมาก ในขณะที่ดุลบริการของไทยขาดดุลสูงขึ้นจากค่าระวางเรือบรรทุกสินค้าส่งออกที่ราคาแพงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีรายจ่ายในรูปเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น
 
ในภาวะปกติ ไทยจะมีรายรับจากการท่องเที่ยวเป็นตัวประคองเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากยังไม่สามารถเปิดรับการท่องเที่ยวได้มาก รายรับจึงลดลงมาก นอกจากปัจจัยพื้นฐานยังไม่เอื้ออำนวย เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มาจากนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลนำเงินออกนอกประเทศ ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศที่ยืดเยื้อกว่าที่คาด ได้กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติลดความน่าสนใจในสินทรัพย์ลงทุนสกุลเงินบาท ประกอบกับแนวโน้มการเปิดรับการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่เลื่อนออกไป ได้ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือและรายได้จากนักท่องเที่ยวในอนาคตเกิดความไม่แน่นอน
 
นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังกังวลต่อสภาพคล่องของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ว่าอาจลดลงจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะถอนมาตรการ QE และอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ในช่วงปลายปีหน้า อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอาจลากยาว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการถือเงินสดในรูปของเงินดอลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้น ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 เงินบาทได้อ่อนค่าเร็วต่อเนื่องไปทะลุระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
 
 
มองต่อไปในช่วงไตรมาส 4 ปี 2021 คาดว่ามีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท ได้แก่

1. มาตรการเร่งฉีดวัคซีน น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในปีหน้า ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท
 
2. ปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักจากการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบน่าจะเริ่มคลี่คลาย และน่าจะสนับสนุนการส่งออกของไทยให้เร่งตัวขึ้นได้ ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่แพงน่าจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น
 
3. นักลงทุนต่างชาติน่าจะรับรู้ข่าวการเตรียมลดวงเงิน QE และการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปแล้ว เมื่อตลาด Price in เช่นนี้ โอกาสที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะแข็งค่าต่อเนื่องก็ค่อนข้างจำกัด และไม่น่าเป็นแรงกดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อเนื่องได้ในช่วงปลายปี

สิ่งที่นักลงทุนไทยควรระวังในช่วงไตรมาส 4 มีอยู่ 2 ด้าน คือ
 
ด้านแรก ระวังข่าวดีเป็นข่าวร้าย (Good news is bad news) หมายถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่อาจลดลง จนเป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจขยายตัวได้มากกว่าคาด แต่เมื่อเศรษฐกิจดี การจ้างงานดี อัตราเงินเฟ้อก็อาจเร่งขึ้น Fed อาจขยับช่วงเวลาในการถอน QE และขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ซึ่งจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องได้
 
ด้านที่สอง ข่าวร้ายคือข่าวร้าย (Bad news is bad news) ปัญหาหนี้ของจีนที่อาจคุมไม่อยู่ เกิดปัญหาฟองสบู่แตกจนกระทบภาคการเงิน นักลงทุนต่างชาติอาจเทขายและลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นในกลุ่มเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) จากความกังวลว่าปัญหาจะลามมาในภูมิภาคนี้เพราะมีความเชื่อมโยงกับจีนมาก เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่องได้เช่นกัน ความเสี่ยงดังกล่าวน่าจะจำกัดและรัฐบาลจีนน่าจะควบคุมได้ในที่สุด
 
โดยสรุป มีโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้จากความมั่นใจในเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินโลกน่าจะเริ่มมีเสถียรภาพได้ในไม่ช้า
 
 
มุมมองนโยบายการเงินไตรมาส 4 ปี 2021

เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยมติเอกฉันท์ไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าสามารถเร่งขึ้นได้เร็วกว่าที่ประมาณการครั้งก่อน จึงมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีเครื่องมืออื่นนอกจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหมือนการหว่านแหช่วยผู้ประกอบการและครัวเรือนที่มีหนี้ในวงกว้าง เพราะบางกลุ่มอาจไม่มีปัญหาการขาดรายได้และยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยจึงใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องให้ธุรกิจและครัวเรือนที่ต้องการสินเชื่อในช่วงที่ขาดรายได้ในระยะสั้น



การปล่อยสินเชื่อซอฟโลน์หรือสินเชื่อเพื่อการปรับโครงสร้างธุรกิจทำได้ด้วยความล่าช้า เม็ดเงินที่ปล่อยออกมาทำได้ราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งยังห่างไกลวงเงินที่เหลืออยู่ราว 2.5 แสนล้านบาท จึงคาดว่าการปล่อยสินเชื่อน่าจะมีปัญหาคอขวด หรือการที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อก้อนนี้ได้เต็มที่ จึงมองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกน่าจะช่วยผ่อนคลายสถานการณ์และเอื้อให้การปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้ทำได้เร็วขึ้น
 
เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ประกอบกับนโยบายการเงินในสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งสัญญาณตึงตัวมากขึ้น ด้วยการวางแผนลดวงเงิน QE ในปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงน่าจะส่งสัญญาณการหยุดรอบการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่น่าจะหันไปใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นในการกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ต่อจากนี้ไป เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ยังเผชิญความล่าช้าในการฟื้นตัว และจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังมีการปรับขึ้นเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP เป็น 70% นโยบายการคลังน่าจะเป็นพระเอกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การกู้เงินจำนวนมากมาอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้น และจะไปทำให้อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ และต้นทุนทางการเงินขยับสูงขึ้นตาม ซึ่งจะกระทบกับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ
 
อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีเครื่องมือทางการเงินอื่นในการช่วยเหลือมาตรการทางการคลัง เพื่อเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนขยับขึ้น เช่น การออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง ด้วยการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง หรือการเข้าควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว หรือ Yield Curve Control

ถ้าเป็นเช่นนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยอาจไม่ได้ขยับสูงขึ้นเร็วในอนาคตแม้ Fed จะถอนมาตรการ QE ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะเลือกมาใช้ในช่วงไตรมาส 4 นี้
 
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ต.ค. 2564 เวลา : 09:55:29
05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 8:02 am