ข่าวประชาสัมพันธ์
พลเอก ประวิตร สั่งควบคุมระดับน้ำในอ่างฯ น้ำมาก ให้สมดุล ไม่กระทบประชาชน พร้อมเร่งฟื้นฟูคุณภาพน้ำท่วมขังเน่าเสียด้วยจุลินทรีย์ พด.


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ สั่ง กอนช. บริหารจัดการอ่างฯ ให้สมดุล มีช่องว่างรับน้ำฝนจากอิทธิพลของร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง และสั่งเตรียมสำรวจอ่างฯ น้ำน้อยภาคเหนือ รับมือแล้งล่วงหน้า ทั้งเร่งแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียจากการท่วมขังด้วยการใช้จุลินทรีย์บำบัด


 

วันนี้ (16 ต.ค. 64) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า วานนี้ (15 ต.ค. 64) พายุดีเปรสชัน “คมปาซุ” บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ประเทศไทยจะยังคงได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกหนักบางพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก โดย กอนช. ได้ออกประกาศอย่างต่อเนื่องเพื่อแจ้งเตือนเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากเสี่ยงล้นความจุ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบรับทราบสถานการณ์สำหรับเตรียมพร้อมรับมือ นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในอ่างฯ ร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อพิจารณาปรับอัตราการระบายน้ำให้มีความสมดุลและเหมาะสม มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนจากอิทธิพลของร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช.

“กอนช. ร่วมกับกรมชลประทาน ได้ทบทวนและวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อปรับอัตราการระบายน้ำของแต่ละอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยขณะนี้ได้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราการระบายของอ่างฯบางแห่ง ไม่ให้ปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกักของตัวอ่างฯ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ที่จะมีการปรับเพิ่มการระบายจากอัตรา 10 ล้าน ลบ.ม./วัน เป็น 13 ล้าน ลบ.ม./วัน และ 15 ล้าน ลบ.ม./วัน ในช่วงวันที่ 17 - 18 ต.ค. 64 ตามลำดับ โดย กอนช. ได้แจ้งเตือนล่วงหน้าแก่พี่น้องประชาชนในบริเวณที่คาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบ ให้มีการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหายแล้ว และจะมีการแจ้งเตือนสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้มวลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ปริมาณฝนเริ่มลดน้อยลง ซึ่ง กอนช. จะประสานกำกับหน่วยงานให้ปรับลดอัตราการระบายลงตามลำดับ เพื่อดูแลให้เกิด ผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันอ่างฯในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่ง ยังคงมีปริมาณน้ำไม่มากนัก โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ประกอบกับปริมาณฝนที่จะลดลงจากอิทธิพลของมวลความกดอากาศสูงดังกล่าว กอนช. จึงได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องให้เร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งล่วงหน้า เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง พร้อมกักเก็บน้ำท่วมในช่วงนี้ไว้สำรองเป็นน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี และในส่วนของพื้นที่ที่ยังคงประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งต้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมขังยาวนานจนเกิดภาวะน้ำเน่าเสีย รองนายกรัฐมนตรียังได้มอบหมาย สทนช. ประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน แก้ไขและบรรเทาปัญหาด้วยการนำจุลินทรีย์มาใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในเบื้องต้น พร้อมกับเร่งรัดหน่วยงานให้คลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมขังให้ลดระดับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

 


LastUpdate 16/10/2564 17:11:58 โดย : Admin
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 7:04 am