เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ผู้ซื้อบ้านเฮ! ''กู้บ้านได้เต็ม 100%'' ธปท.ผ่อนคลายมาตรการ LTV ''ขยายเพดาน 100%'' ถึงสิ้นปี 65 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯ


ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประะทศไทย( ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ แม้มีแนวโน้มจะทยอยฟื้นตัวได้จากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้เปิดประเทศได้เร็วกว่าคาด แต่การฟื้นตัวยังเปราะบางจากความไม่แน่นอนสูงและฐานะการเงินของบางภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะซบเซาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอและภาคก่อสร้างที่ได้รับผลจากการระบาด 

 

ธปท. ประเมินแล้วเห็นว่า เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพยุงการจ้างงาน จึงควรเร่งเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเข้มแข็งหรือรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้ ผ่านการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว
 

โดยมาตรการผ่อนคลาย LTV มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็นร้อยละ 100  (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว) ทั้งกรณี (1) มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ (2) กรณีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1  เป็นต้นไป

2. การผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
 

“ธปท. คาดว่าการผ่อนคลายมาตรการ LTV ในครั้งนี้ จะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสำคัญและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง คิดเป็นกว่าร้อยละ 9.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานรวมกว่า 2.8 ล้านคน”ดร.รุ่งกล่าว
 

สำหรับทางด้านความเสี่ยงจากการผ่อนคลาย ดร.รุ่งยืนยันว่า ธปท.ได้ประเมินแล้วว่า 1.การเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้อยู่ในระดับต่ำ และปัจจุบันสถาบันการเงินมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ดี 2.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยไม่ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต
 

“การผ่อนคลาย LTV เดิม ธปท.มีมาตรการกำหนดไว้ว่า หากบ้านหลังแรกไม่เกิน 10 ล้านบาท จะกู้ได้เต็ม 100% แต่มีมาตรการที่ผ่านมา จำกัดด้านสินเชื่อกรณีบ้านหลังที่ 2 และ 3  จึงจำกัด LTV ไว้ รวมถึงบ้านราคาแพงเกิน 10 ล้านบาท ที่ออกมาช่วงอสังหาริมทรัพย์ร้อนแรง แต่วันนี้การเก็งกำไรอยู่ในระดับต่ำ และหลายภาคส่วนมีวินัยดี ทำให้ ธปท.มีความกังวลน้อยลงเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมที่จะปลดล็อกมาตาการ LTV ดังกล่าว เป็นการชั่วคราวจนถึงสิ้นปี 2565 และคาดจะไม่มีการต่ออายุมาตรการผ่อนคลายออกไปอีก เพราะคิดว่า ถึงสิ้นปี 2565 ที่สิ้นสุดระยะเวลาผ่อนคลายมาตรการ LTV ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขยายเวลามาตรการออกไปอีก”ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวยืนยัน
 

ดร.รุ่ง กล่าวต่อไปว่า การกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นแพ็กเกจ ทั้งมาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงิน ซึ่ง LTV เป็นมาตรการทางการเงินสำคัญที่สามารถผ่อนคลายได้ เนื่องจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับต่ำและสถาบันการเงินยังมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ดี อย่างไรก็ตาม ธปท. จะติดตามสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ สัญญาณการเก็งกาไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ มาตรฐานการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน และความสามารถของประชาชนในการกู้หรือซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสม (housing affordability) เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนมาตรการได้อย่างเท่าทันและเหมาะสมกับสถานการณ์
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันเพดาน LTV หรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาบ้าน อยู่ที่ 70-90% หมายความว่า หากบ้านราคา 2 ล้านบาท และเดิมกำหนดให้ LTV = 90% เท่ากับว่าเราจะกู้เงินเพื่อซื้อบ้านได้เพียง 1.8 ล้านบาท (90% x 2 ล้าน) และต้องวางเงินดาวน์อีก 2 แสนบาทสำหรับส่วนที่เหลืออีก 10% ของราคาบ้าน แต่การผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็น 100% นี้ เท่ากับว่าจะกู้เงินเพื่อซื้อบ้านได้ทั้งจำนวน 2 ล้านบาท โดยไม่ต้องมีเงินดาวน์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ต.ค. 2564 เวลา : 13:11:09
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 8:07 am