เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังฯ แจงรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณเบิกจ่ายสิ้นปีงบ 2564 เป็นไปตามเป้า ทั้งผลการเบิกจ่ายภาพรวมและประสิทธิภาพดีขึ้นจากปี 2563


นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนปีงบประมาณ 2565 แล้ว โดยรัฐวิสาหกิจที่ สคร. กำกับดูแล 43 แห่ง มีวงเงินลงทุน จำนวน 314,486 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ จำนวน 167,317 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน จำนวน 147,169 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน 

ซึ่ง สคร. ได้เตรียมความพร้อมในการติดตามรัฐวิสาหกิจให้เร่งจัดทำแผนการเบิกจ่ายที่สอดคล้องกับวงเงิน
ที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว สำหรับการติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2564 ตามปกติ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมจำนวน 260,609 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของแผนการเบิกจ่ายสะสม 
ผลการเบิกจ่ายสะสมของรัฐวิสาหกิจ ปี 2564 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่าย งบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 43 แห่ง แบ่งเป็นรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ ซึ่งสิ้นสุดการดำเนินการแล้ว  จำนวน 34 แห่ง เบิกจ่ายจริงสะสม 145,465 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของกรอบลงทุนทั้งปี  และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2564) จำนวน 9 แห่ง เบิกจ่ายจริงสะสม 115,145 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 105 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม
 
 
อย่างไรก็ดี สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งสามารถเบิกจ่ายได้เป็นไปตามแผน หรือสูงกว่าแผน เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี ของ รฟม. โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ - รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แผนปรับปรุง และขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 - 2564 ของ กฟน. งานก่อสร้างปรับปรุงขยายระบบประปา ของการประปาส่วนภูมิภาค และโครงการขยายระบบส่งไฟฟ้า ระยะที่ 12 ของ กฟผ. 
 
ทั้งนี้ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายล่าช้า เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1  และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - ชุมพร ของ รฟท. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 - 2560) และโครงการทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย 
 
นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า ในปีที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐวิสาหกิจ จะประสบปัญหาจากการประกาศปิดไซต์งานก่อสร้างและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรค COVID-19 สคร. ได้มีการกำกับและติดตามความคืบหน้าและสภาพปัญหาในการดำเนินโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่องและได้มีการเข้าพบรัฐวิสาหกิจเพื่อผลักดันการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ในภาพรวมรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณซึ่งสิ้นสุดการดำเนินการปี 2564 แล้ว มีประสิทธิภาพการเบิกจ่าย งบลงทุนสูงขึ้น รวมถึงสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมได้สูงกว่าปี 2563 จำนวน 44,682 ล้านบาท
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ต.ค. 2564 เวลา : 17:29:16
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 10:13 am