เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ เงินบาทแข็งค่า ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน


- เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 32.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยยังคงได้รับแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายในระหว่างสัปดาห์ตามจังหวะการย่อตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากที่ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านของสหรัฐฯ หดตัวลงมากกว่าคาดในเดือนต.ค. อย่างไรก็ดีเงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามการเสนอชื่อประธานเฟดที่จะเข้ารับตำแหน่งในช่วงต้นปีหน้า

- ในวันศุกร์ (19 พ.ย.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 32.74 เทียบกับระดับ 32.81 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 พ.ย.)
 
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.30-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนต.ค. ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ข้อมูลรายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล และดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. จีดีพีไตรมาส 3/64 (ครั้งที่ 2) และรายงานการประชุมเฟด (2-3 พ.ย.) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ อัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน รวมถึง PMI ของอังกฤษ ยูโรโซน และสหรัฐฯ เดือนพ.ย. (เบื้องต้น)  
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย
 
- หุ้นไทยขยับขึ้น แต่ลดช่วงบวกลงบางส่วนปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,645.06 จุด เพิ่มขึ้น 0.68% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 83,748.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.19% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.71% มาปิดที่ 562.07 จุด  
 
- หุ้นไทยปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของไทยที่ออกมาดีกว่าคาด ประกอบกับมีแรงซื้อในหุ้นกลุ่มธนาคาร ไฟแนนซ์ และเทคโนโลยี จากรายงานข่าวการร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทจัดการหนี้ รวมถึงข่าวการควบรวมกิจการของบริษัทสื่อสาร อย่างไรก็ดี หุ้นไทยลดช่วงบวกลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงขายในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังมีข่าวธปท. ติดตามตรวจสอบธนาคารพาณิชย์หากขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยไม่ถูกต้อง
 
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,640 และ 1,630 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,675 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนต.ค.ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนต.ค. ข้อมูล PMI เดือนพ.ย. (เบื้องต้น) ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 และบันทึกการประชุมเฟด ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูล PMI เดือนพ.ย. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนพ.ย. ของจีน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 พ.ย. 2564 เวลา : 19:02:22
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 2:39 am