เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ EU นำกระแส ESG เตรียมเก็บภาษีคาร์บอนสินค้านำเข้า ผลกระทบต่อไทยจะเกิดใน 2-3 ปีข้างหน้า


ประเด็นสำคัญ

- กระแส ESG แรงกดดันทางการค้าระลอกใหม่ท้าทายความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย โดยที่ผ่านมา EU นำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมออกมาใช้ก่อนประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีคาร์บอนกับธุรกิจในประเทศ การลดการใช้งานพลาสติก ล่าสุดกำลังจะเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในอีก 1 ปีข้างหน้า (ปี 2566) นอกจากนี้ สหรัฐฯ ก็อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการในลักษณะใกล้เคียงกันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม
 
 
- มาตรการสิ่งแวดล้อมของนานาชาติไม่กระทบการส่งออกของไทยในปี 2565 แต่ผลกระทบทางอ้อมจะทยอยเกิดขึ้นจากการคุมเข้มของคู่ค้าในการสรรหาสินค้าตอบโจทย์กระบวนการผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะ 1-2 ปี มาตรการ CBAM กับการลดใช้พลาสติกของ EU และสหรัฐฯ กระทบการส่งออกไทยค่อนข้างน้อยมีเพียงร้อยละ 0.9 ของการส่งออกไทยไปตลาดโลกเท่านั้น แต่ถ้าหากชาติต่างๆ ใช้มาตรการแบบเดียวกันจะยิ่งทำให้สินค้าไทยแข่งขันสูงขึ้น ในระยะต่อไป มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจะขยายขอบข่ายไปยังสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย ดังนั้นในเวลานี้ธุรกิจไทยจำเป็นต้องเริ่มปรับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เพื่อให้สินค้าไทยตอบโจทย์ความต้องการตามกระแส ESG
 
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ นำมาสู่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) โดยแต่ละประเทศล้วนมุ่งไปที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้ ซึ่งสหภาพยุโรปเป็นเแกนนำผลักดันเรื่องนี้มาก่อนใครจนกระทั่งล่าสุดได้ประกาศแผน European Green Deal ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 55 ภายในปี 2573 และไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 โดยหลายแผนงานล้วนส่งผลต่อธุรกิจภายใน EU เป็นหลัก ขณะที่มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่จะเริ่มใช้ในปี 2566 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำเรื่องการเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้กับสินค้าของประเทศคู่ค้าเป็นครั้งแรก โดยสหรัฐฯ ก็อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางเดียวกันนี้มาใช้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุป 3 มาตรการที่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องเตรียมรับมือ ดังนี้
 
1. สินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนสูงถูกเพ่งเล็งก่อน แต่สินค้าเหล่านี้ไทยไม่ค่อยได้ผลิตและส่งออกจึงไม่ได้รับผลกระทบทางตรงมากนัก โดยสินค้ากลุ่มนี้คงต้องเตรียมรับมือกับแผนงาน CBAM ของ EU ที่จะเริ่มใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้ากับสินค้านำร่อง 5 รายการ ประกอบด้วยซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และอะลูมิเนียม ในเบื้องต้นมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 3 ปีแรกที่ทาง EU จะยังไม่เก็บภาษีคาร์บอน แต่ผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องรายงานกับ EU ในการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม หลังจากนั้นจะเริ่มพิจารณาเก็บภาษีคาร์บอนในปี 2569 ทั้งยังมีแนวโน้มว่าอาจมีการขยายขอบข่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องมากขึ้นอีก ในขณะที่สหรัฐฯ ก็ กำลังเสนอแผนงานในลักษณะเดียวกันซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะถูกนำมาใช้ในปี 2567 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินค้าไทยที่เกี่ยวข้องมีเพียง 2 รายการ คือ เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมส่งไป EU คิดเป็นการส่งออกร้อยละ 4.2 ของการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก(ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2564) โดยมีความเป็นไปได้ว่าภาษีคาร์บอนที่จะต้องบวกเพิ่มไปกับราคาสินค้าอยู่ที่ขั้นต่ำราว 65 ดอลลาร์ฯ/ตัน  ซึ่งเป็นอัตราค่าคาร์บอนที่ผู้ประกอบการใน EU ต้องชำระตามมาตรการในประเทศ และอัตราดังกล่าวอาจถูกนำมาปรับใช้กับ CBAM โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐฯ และจีนที่เป็นแหล่งนำเข้าหลักของ EU ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวจุดประกายให้ทั่วโลกหันมาใช้มาตรการใกล้เคียงกัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยคงต้องเตรียมเผชิญในตลาดอื่นๆ และอาจมีการขยายขอบข่ายไปยังสินค้าอื่นที่ส่งผลต่อไทยมากขึ้น
 
 
2. สินค้าพลาสติกและวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกเริ่มถูกจำกัดการใช้งาน โดยเริ่มจากสินค้าบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics: SUPs) ผู้ประกอบการไทยที่ต้องใช้พลาสติกเป็นองค์ประกอบของบรรจุภัณฑ์ควรต้องหันไปใช้วัสดุอื่นทดแทน โดย EU เริ่มใช้มาตรการห้ามใช้ SUPs มาตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2564 ประกอบด้วยพลาสติก 10 ชนิด คือ ก้านสำลีเช็ดหู ช้อน/ส้อม/มีด/จาน/หลอด ลูกโป่งและไม้เสียบลูกโป่ง ภาชนะใส่อาหาร ถ้วยเครื่องดื่ม ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม ก้นบุหรี่ ถุงพลาสติก แพ็คเก็ตและที่ห่อ ทิชชู่เปียกและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ซึ่งในทางปฏิบัติได้ให้สิทธิแต่ละประเทศสมาชิกบังคับใช้ด้วยความเข้มงวดแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศสได้เพิ่มการห้ามใช้พลาสติกห่อผักและผลไม้ ถุงชา พลาสติกห่อของเล่น สหรัฐฯ เองก็เตรียมนำมาแผนงานนี้มาใช้เช่นกัน ทั้งยังมีแผนจัดเก็บภาษีจากฝั่งผู้ผลิตเพื่อจำกัดการใช้พลาสติกและการนำเข้าเม็ดพลาสติกที่เป็นปัจจัยการผลิตของ SUPs ในอัตรา 10 เซนต์/ ปอนด์ ในปี 2565 ขยับเป็น 15 และ 20 เซนต์/ ปอนด์ในปี 2566 และปี 2567 หลังจากนั้นจะปรับขึ้นอีกตามอัตราเงินเฟ้อ  
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เรื่องนี้ส่งผลต่อการส่งออกของไทยทางอ้อมในการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับนโยบายลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทานที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกคงต้องหันมาใช้สิ่งทดแทนพลาสติก หรือใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลให้มากขึ้นจึงจะสามารถลดต้นทุนส่วนเพิ่มจากการกีดกันทางการค้าหรืออาจมีการเรียกเก็บภาษีได้ อย่างไรก็ดีในระยะข้างหน้าอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกของไทยคงต้องเตรียมรับมือกับการเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต SUPs รวมทั้งรับมือกับความต้องการที่อาจลดลงซึ่งไม่เพียงจะเกิดขึ้นในชาติตะวันตกที่เป็นผู้ผลักดันแผนงาน แต่กระแสลดการใช้พลาสติกก็อาจขยายวงกว้างมายังประเทศในฝั่งเอเชียนั่นอาจส่งผลต่อไทยที่เป็นผู้ส่งออกเม็ดพลาสติกอันดับที่ 6 ของในเอเชีย (เป็นรองจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ ตามลำดับ)
 
3. การเก็บภาษีคาร์บอนในหมวดสินค้าอาหารยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เนื่องจากเกี่ยวพันกับผู้บริโภคและผู้ผลิตในวงกว้าง สำหรับไทยที่เป็นผู้ส่งออกอาหารทั้งวัตถุดิบและอาหารแปรรูปจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมด้านห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทุกช่องทาง แม้ EU จะยังไม่ได้จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าในหมวดอาหาร แต่ล่าสุดอังกฤษเตรียมแผนเก็บภาษีคาร์บอนและกำหนดให้ติดฉลากคาร์บอนสำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และนมที่มีกระบวนการทำฟาร์มก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนแล้ว  รวมทั้งในปัจจุบันหลายประเทศใน EU ก็มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสินค้าเนื้อสัตว์ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนจากการทำฟาร์มในอัตราที่สูงกว่าผัก ผลไม้ อาหารสุขภาพและอาหารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ที่ผ่านมา EU ให้ความสำคัญในเรื่องสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมกับสินค้านำเข้ามาโดยตลอด อาทิ การคุมเข้มของมาตรการ IUU Fishing ในการอุตสาหกรรมประมง จึงมีโอกาสที่มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนจากการนำเข้าสินค้าอาหารจะถูกนำมาใช้ในระยะข้างหน้า 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กระบวนการผลิตอาหารของไทยได้รับการยอมรับด้านคุณภาพอยู่แล้ว แต่มาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนยังเป็นเรื่องใหม่ สินค้าที่อาจต้องปรับตัวในระยะอันใกล้อยู่ในกลุ่มเนื้อสัตว์ปีกและอาหารทะเลอันเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในลำดับต้นๆ ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมการตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบการผลิต ติดฉลาดคาร์บอนให้แก่สินค้าที่จะส่งออก และติดตามความเคลื่อนไหวของมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด 
 
โดยสรุป แผนงานของ EU และสหรัฐฯ ผลักดันให้โลกก้าวไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ลดคาร์บอนในระยะข้างหน้าเป็นเรื่องที่การส่งออกสินค้าไทยต้องเผชิญไม่ช้าก็เร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะ 1-2 ปี ไทยต้องเร่งเตรียมพร้อมรับกับโจทย์ที่ท้าทายจาก EU และสหรัฐฯ เป็นสินค้าที่อยู่ในแผน CBAM และกลุ่มพลาสติกเป็นหลัก อันที่จริงไทยพึ่งพาตลาดนี้ไม่มากนักมีมูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก และแม้จะยังไม่มีการเก็บภาษีอย่างเป็นทางการแต่ก็เป็นย่างก้าวที่สำคัญในการนำกระแส ESG มาทำให้เป็นรูปธรรมซึ่งมีส่วนทำให้นานาชาติหันมาใช้มาตรการแบบเดียวกันจนทำให้สินค้าไทยต้องรับมือกับการทำตลาดอื่นๆ ตามมาในอนาคต
 
สำหรับในระยะต่อไปทั้ง EU และสหรัฐฯ อาจขยายมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนครอบคลุ่มสินค้าอาหาร สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งรวมแล้วมีมูลค่า 52.8 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 23.7 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก นับว่าส่งผลต่อไทยในวงกว้างโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าที่เกี่ยวโยงกับห่วงโซ่การผลิตในภาคเกษตรกรรมของไทยโดยตรงที่ต้องเร่งเตรียมความพร้อม ขณะที่ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมไม่น่ากังวลนักเพราะส่วนใหญ่ธุรกิจไทยก็ล้วนอยู่ในแผนการดำเนินงานของนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพในการปรับแผนการผลิตให้เท่าทันมาตรการที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ธุรกิจรายย่อยที่อยู่ในสายการผลิตคงต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ให้มากขึ้น
 
การแก้ปัญหาโลกร้อนทั้งมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนและลดการใช้งานสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นใหม่ที่ท้าทายความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย แม้จะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2565 แต่ผลกระทบทางอ้อมจะทยอยเกิดขึ้นจากการคุมเข้มของคู่ค้าในการสรรหาสินค้าตอบโจทย์การผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งธุรกิจไทยจำเป็นต้องเร่งเตรียมความพร้อมตลอดห่วงโซ่การผลิตให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดการใช้พลาสติก การติดฉลากคาร์บอน รวมถึงการติดตามตรวจสอบได้ตลอดกระบวนการผลิตเพื่อให้สินค้าไทยสามารถตอบโจทย์กระแส ESG
 
ขณะที่เวียดนามคู่แข่งสำคัญของไทยได้ตื่นตัวในเรื่องนี้ก่อนใครและเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในอาเซียนที่จะบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม (Law on Environmental Protection: LEP) ฉบับปรับปรุงในวันที่ 1 มกราคม 2565 โดยมีแผนงานสำคัญในการใช้กลไกราคาในการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกพุ่งเป้าไปที่การผลิตที่ใช้พลังงานถ่านหิน ภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งซึ่งสอดคล้องกับแผนงาน CBAM ของ EU ซึ่งถ้าหากเวียดนามทำได้สำเร็จจะยิ่งทำให้สินค้าที่ผลิตจากเวียดนามตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดของไทยได้มากขึ้นอีก 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ธ.ค. 2564 เวลา : 16:47:04
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 3:00 am