การตลาด
สกู๊ป : ธุรกิจ ''เครื่องประดับไทย'' คึกคัก สวนทางพิษโควิด หลังพลิกเกม ''ขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ''


หลังจากประเทศไทยถูกจัดอันดับติด 1 ใน 10  ของผู้ส่งออกเครื่องประดับชั้นนำในโลก และมียอดขายเครื่องประดับจากแร่เงินสูงสุดในมาร์เก็ตเพลซทั่วโลกถึง 23.8% ในปี 2563 ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีของไทยเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้เกิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานคนงานเหมือง ช่างเจียระไนเพชรพลอย นักออกแบบเครื่องประดับ  หรือผู้ค้าเครื่องประดับ ที่ล้วนมีรายได้ดีขึ้น 

อย่างไรก็ดี  จากโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้รูปแบการค้าขายเครื่องประดับเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ผู้ซื้อและผู้ขายหันมาให้ความสำคัญกับการซ้อขายเครื่องประดับผ่านโลกออนไลน์กันมากขึ้น เห็นได้จากผู้ประกอบการหลายรายหันมาทำตลาดผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซกันมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสในการขายสินค้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ อีเบย์  สามารถปิดยอดขายในปี 2563 ที่ผ่านมาด้วยยอดผู้ซื้อ 185 ล้านคน  เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 11 ล้านคน  
 

น.ส. รินทร์ลิตา ศรีโรจนภิญโญ หัวหน้าฝ่ายการตลาดของอีเบย์ ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดเครื่องประดับประเภทอัญมณีแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สร้อยคอและจี้ที่ใช้อัญมณี” ถือเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตสูงสุด โดยในส่วนของประเภทอัญมณีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ไพลินหรือซัฟไฟร์  คิดเป็นอัตราส่วนความนิยมมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาด โดยไพลินสีฟ้า เป็นอัญมณีที่มีความต้องการมากที่สุด ตามมาด้วยไพลินสีชมพู ส่วนเพชร ตลาดในประเทศไทยยังมีผู้สนใจไม่มาก 

นอกจากนี้  อีเบย์ ยังพบอีกว่า สินค้าและบริการ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันผู้ซื้อมีความคาดหวังความสะดวกสบายในการเข้ามาซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเว็บไซต์ ขั้นตอนการเช็คเอาท์ หรือการชำระเงิน นอกจากนี้ ผู้ซื้อยังต้องการความง่ายและรวดเร็วในการเปรียบเทียบและซื้อสินค้า ซึ่งนอกจากกลไกการสั่งซื้อและระบบที่ต้องใช้งานง่ายแล้ว การออกแบบให้ผู้ซื้อสามารถหาสินค้าได้ง่าย และมีรายการสินค้าที่ถูกต้องก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ซื้อมาค้นหาสินค้า ผู้ซื้ออาจกำลังมองหาสีหรือขนาดที่เฉพาะเจาะจง หากผู้ขายมีสินค้าชิ้นนั้นแต่ไม่ได้ลงรายละเอียดที่ครบถ้วนบนรายการ อาจทำให้สินค้าถูกมองข้ามไปและขายไม่ได้ 
 

จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ทำให้แบรนด์เครื่องประดับรายใหญ่ อย่าง “แพนดอร่า” ก็ออกมาปรับกลยุทธ์ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการทำตลาดอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ด้วยการเปิดตัว Pandora Flagship Store บน LazMall ภายใต้ LazMall Premium เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าโดยหวังเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในแบบ New Normal 

นายธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัทธนจิรา กรุ๊ป ผู้บริหารเครื่องประดับแบรนด์แพนดอร่า (Pandora) กล่าวว่า การที่บริษัทเลือก ลาซาด้า มาเชื่อมต่อแบรนด์บนโลกออนไลน์กับกลุ่มลูกค้า เพราะลาซาด้าเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับความนิยม ซึ่งในส่วนของสินค้าที่นำไปจำหน่ายจะเป็นเครื่องประดับจิวเวลรี่ทุกคอลเลคชั่นหลากหลายรูปแบบ  เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อแบบ Mix & Match ได้ตามความต้องการ ซึ่งหลังจากนำสินค้าวางจำหน่ายในช่องทางดังกล่าวพบว่า ลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ 

ด้าน บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องประดับชั้นนำของไทยอีกรายก็ออกมาโชว์ผลประกอบการที่ดีเกินคาด หลังจากมีการปรับกลยุทธ์ในการทำตลาด โดยการขยายช่องทางจำหน่ายครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์   

นายชนัตถ์ สรไกรกิติกูล ประธานกรรมการการเงินและบริหารความเสี่ยง บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าปีนี้จะมีผลกระทบในด้านการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ภาพรวมผลประกอบการของบริษัทก็ยังมีอัตราการเติบโตที่ดี ทำให้บริษัทยังคงคาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้จะรายได้อยู่ที่ 3,201 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 2,462 ล้านบาท โดยทุกธุรกิจฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  

เริ่มจากธุรกิจฐานการผลิต (Production) มีสัดส่วนรายได้ คิดเป็น 65% ของรายได้รวม คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 1,507 ล้านบาท เป็นไปตามกลุ่มลูกค้า Affordable ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลัก ที่ยังคงมีความต้องการซื้อสินค้าอยู่ แม้เศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงถดถอย หรือมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังมีการจับจ่ายใช้สอยในลักษณะที่มีความระมัดระวังมากขึ้น ในกลุ่มสินค้าที่มีราคาจับต้องได้ คาดว่าปีนี้จะใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) อยู่ที่ 90% จากปีก่อน 85% รองรับฐานลูกค้าดังกล่าวที่คาดจะเพิ่มขึ้น 
 

ขณะที่ธุรกิจค้าปลีก (Retail) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 30% ของรายได้รวม คาดว่าปีนี้จะมีรายได้อยู่ที่ 1,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 826 ล้านบาท โดยจะมาจากแบรนด์ PRIMA GOLD จะมุ่งเน้นการขยายการให้บริการผู้บริโภคไปสู่เครื่องประดับอื่นๆ ไม่จำกัดแค่ 24K gold/Diamond เช่น เครื่องประดับเพชร, พลอยสีอื่นๆ เป็นต้น และเน้น VVIP Program หรือกลุ่มลูกค้าที่มี Loyalty กับแบรนด์ PRIMA สูง เป็นฐานลูกค้าที่ชื่นชอบสินค้าและมีการซื้อสินค้าหลายครั้งต่อปี ซึ่งบริษัทฯ ก็จะมอบความ Exclusive ให้กับฐานลูกค้าดังกล่าว รวมถึงการ Co-creation exclusive pre-order, referral program เป็นต้น 

ส่วนเว็บไซต์ GEMONDO ที่ดำเนินการขายเครื่องประดับแท้ราคาจับต้องได้ ประมาณ 1,000-5,000 บาท ในช่วงของโควิด-19 ก็ส่งผลให้ GEMONDO เติบโตขึ้น และหลังจากช่วงคลายล็อกดาวน์มาก็เติบโตขึ้นมาก ทำให้ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้แตะ 100 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 82 ล้านบาท  

สำหรับรายได้จากธุรกิจจัดจำหน่าย (Distribution) ประเทศอินเดีย มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย  เนื่องจากมีการยกเลิกการดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายในหลายประเทศ เลยทำให้รายได้ที่จะได้รับจากธุรกิจนี้ในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 101 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่  129 ล้านบาท ซึ่งหลังจากโรงงานใหม่ของตัวเองเริ่มผลิตสินค้าได้ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ เชื่อว่ารายได้จากธุรกิจดังกล่าวจะปรับตัวดีขึ้นอย่างแน่นอน

LastUpdate 04/12/2564 18:14:27 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 9:25 am