แบงก์-นอนแบงก์
"วิทัย" ผอ.ออมสิน เปิดแผนปี 65 Focus 5 ภารกิจหลัก ลุ้นบอร์ดอนุมัติ "สินเชื่อที่ดิน-ขายฝาก" พร้อมโชว์ผลงานปี 64 "ธนาคารเพื่อสังคม" ช่วยคนตัวเล็กกว่า 13 ล้านคน เม็ดเงิน 1.8 ล้านล้านบาท


ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน "วิท้ย รัตนากร" โชว์ผลสำเร็จการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” สามารถช่วยคนตัวเล็กให้เข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้กู้เงินกับธนาคารเป็นครั้งแรกกว่า 2.16 ล้านคน และช่วยประชาชน-ผู้ประกอบการรายย่อยได้อีก 11.6 ล้านคน ผ่าน 36 โครงการ เม็ดเงินรวมกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่นำส่งรายได้เข้ารัฐได้สูงสุดในรอบ 3 ปีย้อนหลัง ถึง 15,978 ล้านบาท พร้อมตั้งสำรองทั่วไปได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมี NPL แค่ระดับ 2.56% พร้อมเปิดแผนปี 65 เดินหน้า 5 ภารกิจหลัก ลุ้นบอร์ดไฟเขียวให้ทำ "สินเชื่อที่ดิน-ขายฝาก" คาดดำเนินการได้กลางปีหน้า

 

 
 
 
 
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยแผนดำเนินงานและภารกิจสำคัญในปี 2565 ว่า ภายใต้จุดยืนของการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ด้วยเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินที่เป็นธรรม ในปี 2565 ธนาคารออมสินจะมุ่งเน้นดำเนินการผ่าน 5 ภารกิจสำคัญ ประกอบด้วย 1) การสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อช่วยสร้างทักษะอาชีพ สนับสนุนเงินทุน และช่องทางการสร้างรายได้ ช่วยเหลือประชาชนที่ต้องออกจากการจ้างงานจากวิกฤติโควิด
 
2) จัดทำโครงการสินเชื่อที่ดินและขายฝาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และหากได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2565 โดยมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสมเป็นธรรมสำหรับลูกค้ากลุ่มฐานราก
 
3) การพัฒนายกะระดับ Digital Lending ให้สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ทั้งวงเงิน O/D รายวัน และ Lending for SMEs บนสมาร์ทโฟนด้วยแอป MyMo ให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล Alternative Data Analytic หลังจากในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยผ่าน MyMo ได้มากกว่า 1.5 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าธนาคารประสบความสำเร็จสามารถเติมเม็ดเงินช่วยเหลือประชาชนเป็นจำนวนมากด้วยระยะเวลาอันสั้น
 
4) การออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออมสินเพื่อการเกษียณ เพื่อสร้างหลักประกันเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งธนาคารเตรียมยกระดับการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มฐานรากมีความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย
 
5) การขาย หรือ โอนหนี้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการทรัพย์สินของธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ซึ่งคาดว่ากฎกระทรวงจะผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับภายในปี 2565
 
"ภารกิจข้อ 1-3 ถ้าทำได้จะช่วยลูกค้าในกลุ่มไมโครฐานรากได้อีกหลายล้านคน ซึ่ง 3 ภารกิจนี้จะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ในปีหน้า และเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน"ผู้อำนวยการธนาคารออมสินระบุ  
 
 


 
 
นายวิทัยกล่าวต่อไปถึงผลสำเร็จในการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ขององค์กรธนาคารออมสิน ผ่านภารกิจสำคัญในการเป็น "ธนาคารเพื่อสังคม" เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการรายย่อย ว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ที่สร้างความเดือดร้อนรุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกันธนาคารก็ต้องบริหารจัดการเสริมความแข็งแกร่งขององค์กรควบคู่กันไป โดยตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินและปรับยุทธศาสตร์เพื่อเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างแท้จริงในการช่วยคนตัวเล็ก ธนาคารจึงต้องเน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้สามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจและสามารถไปปฎิบัติภารกิจเพื่อสังคมตามยุทธศาสตร์ของธนาคารที่วางไว้ โดยจะเห็นได้ว่าธนาคารสามารถลดต้นทุนลงไปได้มากกว่าหมื่นล้านบาท และนำกำไรที่เกิดจากการประหยัดค่าใช้จ่ายไปสนับสนุนภารกิจการเป็นธนาคารเพื่อสังคมได้ตามเป้าหมาย ขณะที่ตัวเลขกำไรก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับกำไรเมื่อปี 2562 ที่เป็นช่วงสถานการณ์ปกติก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19
 

 
 
 
ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานในปี 2564 ธนาคารได้นำไปช่วยเหลือประชาชนระดับฐานราก ผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs ผ่านมาตรการเยียวยา ฟื้นฟู และเสริมสภาพคล่องอย่างครบวงจรอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 36 โครงการ โดยช่วยเหลือประชาชนได้ถึง 11.6 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 1.8 ล้านล้านบาท และช่วยเหลือประชาชนจำนวนกว่า 2.16 ล้านคน ที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ ให้ได้มีสินเชื่อเป็นครั้งแรก ซึ่งธนาคารได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

 
 
 
"แม้ว่าธนาคารจะเข้าช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินเชื่อไม่ต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ และช่วยผู้ประกอบการรายเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้มีสภาพคล่องเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งปัญหาหนี้ที่ค้างชำระจากการขาดรายได้หรือรายได้ลดลงมาก และการเติมทุนเพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องทางการเงินในการรันธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ผ่านมาตรการเยียวยา ฟื้นฟู และเสริมสภาพคล่อง แต่หากดูถึงการนำส่งรายได้เข้ารัฐ ธนาคารก็ยังคงสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐได้เป็นอันดับที่ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง โดยนำส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุดในรอบ 3 ปีย้อนหลัง เป็นจำนวนเงิน 15,978 ล้านบาท"นายวิทัยกล่าว
 
 
 
 
ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวต่อไปถึงความแข็งแกร่งของธนาคาร หลังลดต้นทุนการดำเนินงานทางธุรกิจลงไปได้มาก และสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนฐานรากให้ยืนหยัดอยู่ได้ในสังคม รวมถึงยังนำส่งรายได้เข้ารัฐได้อีกจำนวนมากเป็นอันดับ 4 จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ขณะที่ความแข็งแกร่งของธนาคารก็ยังคงมีอยู่และมีระดับความแข็งแกร่งที่มากขึ้นด้วย โดยในปี 2564 ธนาคารได้ตั้งสำรองทั่วไป (General Provision) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 ธนาคารมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs อยู่เพียง 2.56% มี BIS Ratio ที่ 15.82% ขณะที่มีสินทรัพย์อยู่ที่ 2.97 ล้านล้านบาท และเงินฝาก 2.55 ล้านล้านบาท สินเชื่อ 2.26 ล้านล้านบาท
 
นายวิทัยกล่าวปิดท้ายว่า ในปี 2565 ธนาคารออมสินยังคงมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสมเป็นธรรมสำหรับลูกค้ากลุ่มฐานราก เหมือนเช่นที่ผ่านมาในปี 2564 ที่ได้ปรับลดโครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดทั้งสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จาก 24% ต่อปี กดลงมาเหลือ 14 - 18% ต่อปี และสินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยต่ำ 0.1 - 0.35% โดยจะดำเนินการผ่านโครงการสินเชื่อต่างๆ อาทิ สินเชื่อที่ดินและเงินฝาก ซึ่งถ้าคณะกรรมการธนาคารอนุมัติให้ทำได้จะเริ่มเปิดให้บริการประมาณไตรมาส 3 ปี 2565 โดยอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 8.99 - 9% นอกจากนี้ ในปี 2564 ธนาคารได้ช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเสียประวัติทางการเงิน โดยมีจำนวนช่วยเหลือไปแล้วกว่า 3.4 ล้านราย คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งในปี 2565 ก็ยังคงดำเนินการช่วยเหลือผ่อนปรนภาระหนี้ให้กับลูกค้าต่อไป ทั้งลูกค้าฐานรากและผู้มีรายได้อิสระ เพื่อร่วมกันสู้ภัยโควิด-19 ที่ยังคงระบาดและสร้างผลกระทบในวงกว้างอยู่

บันทึกโดย : วันที่ : 20 ธ.ค. 2564 เวลา : 11:12:07
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 8:44 am