สุขภาพ
ม.มหิดล ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยทันตกรรมชาวไทย เตรียมพัฒนาแอป ''หมอฟันทางไกล'' - ''หนังสืออักษรเบรลล์'' เรียนรู้สุขภาวะช่องปาก


แม้ฟันจะอยู่ไกลหัวใจ แม้จะเจ็บและไม่ทำให้ถึงกับเสียชีวิต แต่ก็อยู่ในช่องปากซึ่งเป็นหนึ่งในประตูสำคัญสู่อวัยวะส่วนอื่นๆ ภายในร่างกาย


กว่า 2 ทศวรรษที่ ศูนย์ทันตกรรมพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการตามรอยพระยุคลบาท เพื่อผู้ป่วยยากไร้ และอยู่ห่างไกล ได้เข้าถึงบริการทางทันตกรรม คิดเป็นจำนวนประมาณ 300 ครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละครั้ง 
 

บนเส้นทางของการมุ่งสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลกตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น คณะทันตแพทยศาสตร์เป็นหนึ่งในองคาพยพที่สำคัญ สู่การเป็นองค์กรชั้นเลิศทางทันตกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะได้รับการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ HA (Hospital Accreditation) ขั้นที่ 2 และมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO (International Organization for Standardization) แล้ว ยังได้อุทิศเพื่อประชาชน ประเทศชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) แห่งสหประชาชาติอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ทันตแพทย์ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความมุ่งมั่นสูงสุดในการเป็นองค์กรชั้นนำ โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม รวมถึงการต่อยอดการเรียนรู้ และนวัตกรรม ไปดำเนินการเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคม ภายใต้หลักจริยธรรมและการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งดำเนินงานศูนย์ทันตกรรมพระราชทานเพื่อแก้ปัญหาทันตสาธารณสุขของประเทศ

"เรามีการใช้นโยบายการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความเป็นอัตลักษณ์ที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การเป็นองค์กรทางทันตกรรมที่เป็นเลิศ" รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ทันตแพทย์ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญกล่าว

ตามภารกิจหลักของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นงานด้านส่งเสริมสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เป้าหมาย SDGs จึงเน้นหนักไปที่ข้อ 3 ซึ่งว่าด้วย Good Health and Well-being โดยไม่ลืมที่จะใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการมุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมาย SDGs ข้อ 7 ซึ่งว่าด้วยAffordable and Clean Energy 

ซึ่งตาม SDGs ข้อ 3 เพื่อส่งเสริมสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบจัดการข้อมูลทันตสุขภาพและการดูแลสุขภาพช่องปากทางไกลอัจฉริยะ หรือ Smart Tele - dental Application เพื่อประชาชนในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะได้ไม่ขาดการดูแลสุขภาพช่องปาก และยังได้ผลิตหนังสือเพื่อผู้พิการทางสายตาให้ได้ใช้อักษรเบรลล์ เพื่อการสามารถเข้าถึงสื่อส่งเสริมสุขภาวะช่องปากซึ่งออกแบบเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษในกลุ่มดังกล่าวเตรียมแจกจ่ายให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ

และโครงการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงวัยตามชุมชนห่างไกล ที่ในระยะแรก คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกับศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เหมือนเป็นกำลังเสริมด้านทันตกรรม มาบัดนี้ได้ลงพื้นที่อย่างเต็มตัวแล้ว ด้วย "รถทันตกรรมเคลื่อนที่" เพื่อใช้ในภารกิจดังกล่าวโดยเฉพาะถึง2 คัน

และตาม SDGs ข้อ 7 ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการรณรงค์ใช้ซ้ำอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อที่บุคลากรทางการแพทย์ และทันตแพทย์ทั่วประเทศจำเป็นต้องใช้เป็นจำนวนมหาศาลในช่วงวิกฤติCOVID-19 อาทิ การนำชุด PPE หรือชุดกันเปื้อนสารคัดหลั่งที่ทำมาจากพลาสติกซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนานนับศตวรรษ มาใช้เสื้อกันน้ำที่สามารถทำความสะอาดกำจัดเชื้อแล้วใช้ซ้ำได้อีกนับ 20 ครั้ง 

นอกจากนี้ ยังได้นำเอาหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งมีราคาสูงและมักขาดแคลน มาทำความสะอาดกำจัดเชื้อด้วยแสงยูวีแล้วใช้ซ้ำได้อีกประมาณ 5 ครั้งต่อชิ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดปริมาณขยะแล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และประหยัดงบประมาณของประเทศชาติได้อย่างคณานับอีกด้วย

เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมต่อไป คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะขยายขอบเขตออกไปเพื่อการบรรลุ SDGs ให้ครบทั้ง 17 ข้อ โดยพยายามจะบรรจุลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการปลูกฝังและพัฒนานักศึกษาของคณะฯ ต่อไปอีกด้วย" รองศาสตราจารย์ดร. นายแพทย์ ทันตแพทย์ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญ กล่าวทิ้งท้าย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ม.ค. 2565 เวลา : 10:30:27
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 3:16 am