เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ผู้ว่าการ ธปท.สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทย "การฟื้นตัวยังเปราะบาง" ชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยงต้องเตรียมพร้อมรับมือ


ผู้ว่าการ ธปท.ชี้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ยังเปราะบาง ไม่เข้มแข็ง ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละเซกเตอร์ และช้ากว่าประเทศอื่น เหตุพึ่งท่องเที่ยวเป็นหลัก ย้ำน่าจะเห็นการฟื้นตัวจริงไตรมาสแรก ปี 2566 เผย 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาเตรียมรับมือ "การระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ - อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รับหากหลุดกรอบ พร้อมออกมาตรการดูแลทันที - คุณภาพลูกหนี้ที่ต่ำลง จนเป็น NPL - ความผันผวนเศรษฐกิจโลก ยันไม่อนุญาตแบงก์ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล แต่หากถือผ่านบริษัทลูก ต้องขออนุญาต ธปท.เป็นรายกรณี


 
 
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน  Meet The  Press เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา  โดยระบุว่า ภาวะการฟืนตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังเป็นการฟื้นตัวที่เปราะบาง ไม่เข้มแข็ง และไม่รวดเร็ว โดยหากมองการฟื้นตัวยังเป็นลักษณะที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละเซกเตอร์ หรือเป็นการฟื้นตัวในลักษณะของ K-shape ซึ่งหากเทียบกับประเทศอื่น ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้ากว่า เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพารายได้หลักจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องในหลายสายพันธุ์เป็นระยะเวลานาน ทำให้การฟื้นตัวของประเทศไทยจึงสะดุด โดยคาดว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเทียบเท่ากับในระดับก่อนเกิดโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  น่าจะประมาณไตรมาส 1 ของปี 2566  หรือกว่าอีกหนึ่งปี
 
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท. มองว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2565 นี้ น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.4% และปี 2566 น่าจะขยายตัวได้ 4 - 5%

 
 
ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.ยังมองอีกว่า ประเทศไทยยังมี 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองและเตรียมพร้อมรับมือ เพราะอาจทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสะดุดได้ ได้แก่ 1.การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งหากมอง ณ ขณะนี้ ที่ประเทศไทยและทั่วโลกมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน มีผลกระทบบ้างแต่้ไม่มากนัก เนื่องจากระบาดง่ายแต่ไม่รุนแรง ในลักษณะ "มาเร็วไปเร็ว" แต่คงต้องจับตาจะมีความยืดเยื้อแค่ไหน รวมถึงสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหนและจะกระทบกับภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วงปลายปีแค่ไหนอย่างไร

2.อัตราเงินเฟ้อ ที่ขณะนี้มีการพูดถึงกันมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ที่มองกันว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง จากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งราคาอาหารสัตว์ อาทิ เนื้อหมู และอื่นๆ รวมถึง ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ของประชากรไม่ได้ปรับขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในกรอบเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ที่ 1-3% โดยยังอยู่ที่ 1.7% และคาดว่าปีหน้าจะลดลงมาอยู่ที่ 1.4% แต่ทั้งนี้หากอนาคตอัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวสูงขึ้นจนหลุดกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ ธปท.ก็มีมาตรการทางการเงินที่พร้อมจะนำออกมาดูแล

3.การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ซึ่งแน่นนอนว่าในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น และการทำมาหากินฝืดเคือง ย่อมทำให้คุณภาพของหนี้ด้อยค่าลง แต่เนื่องจากภาครัฐและภาคสถาบันการเงินมีมาตรการออกมาช่วยเหลือรองรับ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ ลดหนี้ ลดดอก และการแก้ไขหนี้แบบยั่งยืน ทำให้อัตราการพุ่งขึ้นของหนี้ด้อยคุณภาพจนเป็นหนี้ NPL ไม่ได้เพิ่มขึ้นในลักษณะก้าวกระโดด ทั้งนี้ เร็วๆ นี้ ธปท.จะออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรวมกิจการของบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ JV AMC ซึ่งจะเป็นการเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขลูกหนี้ เพื่อไม่ให้ถูกทอดทิ้งจนกลายเป็นหนี้เสียและธุรกิจสามารถมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต

4.ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อภาคการค้าการส่งออกของประเทศไทย รวมถึงตลาดการเงินการลงทุนของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท. มองว่า ด้วยพื้นฐานสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีความแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพ และผ่านประสบการณ์ความผันผวนมาก่อนแล้ว จะเป็นแรงต้านทานให้สามารถผ่านพ้นกับเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนได้

 
 
ผู้ว่าการ ธปท.ยังระบุถึงสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่กำลังเป็นที่นิยมและแพร่หลายอยู่ในหมู่นักลงทุนหน้าใหม่ว่า ธปท.ไม่สนับสนุนให้เป็นสกุลในการชำระเงิน เนื่องจากมีความผันผวนสูง และมีโอกาสในการถูกโจรกรรมข้อมูลได้ง่าย แต่ในด้านการลงทุนสามารถดำเนินการได้ ซึ่งปัจจุบัน ธปท.ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปถือในสินทรัพย์ Digital Asset แต่หากเป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ ก็จะต้องมาขออนุญาตจาก ธปท.เป็นรายกรณีไป ยกเว้นกรณีที่บริษัทลูกมีหน่วยงานกำกับดูแลอื่นดูแลแทน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ม.ค. 2565 เวลา : 21:46:19
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 2:38 am