เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ส่งออกมี.ค.สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 19.5%


 
ส่งออกไทยเดือนมีนาคมยังขยายตัวต่อเนื่องแต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว
 
การส่งออกเดือนมีนาคม 2022 มีมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลที่ 28,859.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว19.5% เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 16.2% และหากพิจารณาเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ (ปรับผลของฤดูกาล) การส่งออกจะขยายตัว 7.3% (MOM, SA) อย่างไรก็ตาม เมื่อหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนภาวะการค้าที่แท้จริง) มูลค่าการส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 9.5% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 13.2% สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) และดัชนีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (Export Orders) ที่ปรับลดลงต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน และ 20 เดือน ตามลำดับ สะท้อนทิศทางการชะลอตัวในภาคการผลิตและการค้าโลกในระยะข้างหน้า สำหรับการส่งออกไทยในเดือนมีนาคมมีสินค้าส่งออกหนุนสำคัญนอกจากทองคำหลายสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ น้ำตาลทราย เป็นต้น และมีตลาดสำคัญที่ขยายตัวได้ดีคือ อาเซียน-5 อินเดีย และตะวันออกกลาง ในภาพรวมมูลค่าส่งออกไทยไตรมาสแรก
ของปีขยายตัว 14.9%

สงครามในยูเครนและนโยบายปิดเมืองของจีนเริ่มส่งผลกระทบต่อส่งออกไทย
 
ส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์รวมถึงปัญหาชะงักชะงันของอุปทานโลกจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยส่งออกไทยไปรัสเซียและยูเครน เดือนมีนาคมหดตัวถึง 73% และ 77.8% ตามลำดับ ประกอบกับการใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของจีน ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก ทั้งนี้ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกไทยจะยังจำกัด แต่ EIC คาดว่าการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นในระยะถัดไป สะท้อนจากข้อมูลการส่งออก 20 วันแรกของเดือนเมษายนของเกาหลีใต้ที่ยังทรงตัวและอาจมีแนวโน้มชะลอตัวลง หากจีนยังคงดำเนินมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดต่อไป และหลายอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดยุโรปสูงอาจได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมบางกลุ่มก็อาจได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าเพื่อทดแทนสินค้าจากรัสเซียในตลาดยุโรปและอาจขยายส่วนแบ่งตลาดได้ 

EIC คาดมูลค่าส่งออกไทยปี 2022 ขยายตัวที่ 6.1% สูงกว่าคาดการณ์เดิม
 
EIC คาดการส่งออกไทยในปี 2022 ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดย EIC ปรับคาดการณ์มูลค่าส่งออกสินค้าไทยขยายตัวที่ 6.1% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.4% โดยถึงแม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบของภาวะสงคราม ทำให้ปริมาณส่งออกไทยอาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในระยะข้างหน้า แต่ราคาสินค้าส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามราคาสินค้าและโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซีย
และยูเครนเป็นผู้ส่งออกโภคภัณฑ์ที่สำคัญหลายชนิด ประกอบกับแนวโน้มเงินบาทที่อาจอ่อนค่าในระยะสั้นจากแรงกดดัน
 
จากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก จะสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของภาคส่งออกไทย ส่งผลให้ส่งออกขยายตัว
สูงกว่าประมาณการเดิม
 
การส่งออกเดือนมีนาคม 2022 มีมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลที่ 28,859.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 19.5%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกทองคำเป็นหลัก โดยหากหักทองคำการส่งออกจะขยายตัวชะลอลงมาที่ 9.5% 

ในภาพรวมการส่งออกรายสินค้าเดือนมี.ค.พบว่า ขยายตัวได้ทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงสินค้าแร่และเชื้อเพลิง
 
• สินค้าเกษตรขยายตัว 3.3% หลังจากที่หดตัว -1.7% ในเดือนก่อนหน้า โดยมีข้าว (+53.9%), ผลิตภัณฑ์สำปะหลัง (+6.3%), และไก่แปรรูป (+6.6%) เป็นสินค้าหนุนสำคัญ และมีตลาดหนุนหลายตลาด เช่น อิรัก (+60,612%), สหรัฐฯ (+31.8%) และสหราชอาณาจักร (+26%) เป็นต้น
 
• สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัว 27.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน โดยมีไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+350.1%) และน้ำตาลทราย (+204.3%) เป็นสินค้าหนุนสำคัญ โดยมีอินเดีย (+1,191.8%) และอินโดนีเซีย (+262.7%) เป็นตลาดหนุนสำคัญ
 
• สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 20.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยมีสินค้าหนุนหลายประเภท เช่น ทองคำ (+1,046.7%), คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (+32.3%) อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ (+37.1%) เป็นต้น ในขณะที่มีรถยนต์และส่วนประกอบ (-10.9%) และผลิตภัณฑ์ยาง (-13.4%) เป็นสินค้าฉุดสำคัญ
 
• สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัว 19.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน โดยมีน้ำมันสำเร็จรูป (+19.8%) เป็นสินค้าหนุนสำคัญ และมีตลาดหนุนหลายตลาด เช่น มาเลเซีย (+52.8%), ลาว (+25.4%) และเกาหลีใต้ (+674.6%) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีจีน (-56.1%) เป็นตลาดฉุดสำคัญ

ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าตลาดรัสเซียและยูเครนหดตัวรุนแรง ตลาดยุโรปชะลอตัวลง ในขณะที่ตลาดฮ่องกงหดตัวเล็กน้อย 
 
• การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวอย่างรุนแรงที่ -73% และ -77.8% จากผลกระทบของสงครามระหว่างสองประเทศ
 
• การส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร (EU28) ขยายตัว 8% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 9.6% โดยมีสินค้าหนุนสำคัญเป็นอากาศยานฯ (+3,575.3%), และอัญมณีและเครื่องประดับ (+85.5%) ในขณะที่คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (-22.1%), และรถยนต์และส่วนประกอบ (-48.2%) เป็นสินค้าฉุดสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากหักสินค้าในกลุ่มอากาศยานฯ ซึ่งอาจโตขึ้นจากปัจจัยเฉพาะชั่วคราวและไม่สะท้อนการส่งออกของไทยได้อย่างแท้จริง การส่งออกไป EU28 จะขยายตัวได้เพียง 2.1% ในเดือนมีนาคม ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 9.4%
 
การส่งออกไปฮ่องกงหดตัว -1% หลังจากที่ขยายตัว 29.7% ในเดือนก่อนหน้า โดยมีแผงวงจรไฟฟ้า (-13.6%), อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-17.7%), เครื่องสำอางฯ (-50.1%) และโทรศัพท์ฯ (-48.7%) เป็นสินค้าฉุดสำคัญ ในขณะที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (+10,901.6%), เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (+4.9%) และอัญมณีและเครื่องประดับ (+71.3%) เป็นสินค้าหนุนสำคัญ
 
• การส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัว 2,865% จากการส่งออกทองคำไปยังสวิตเซอร์แลนด์ที่มากถึง 1,812.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมีนาคม 2022 คิดเป็น 67.9% ของการส่งออกทองคำทั้งหมดของไทย 

รูปที่ 1 : การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างรุนแรง 
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 2 : การส่งออกในเดือนมีนาคมมีสินค้าหนุนสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะทองคำ แต่มีรถยนต์และส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์ยางเป็นปัจจัยฉุดสำคัญ
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
ด้านมูลค่านำเข้าในไตรมาสแรกของปี 2022 ขยายตัว 18.4%YOY ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 29.4% 
 
โดยในไตรมาสนี้ขยายตัวในเกือบทุกหมวดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (+86.2%) ที่ขยายตัวตามราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกและสงครามในยูเครน สินค้าทุน (+12%), สินค้าอุปโภคบริโภค (+10.8%) และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+7.3%, หรือ +17.6% หากหักทองคำ) ยกเว้นสินค้ากลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-20.2%) ทั้งนี้ในภาพรวมของปี 2021 การนำเข้าขยายตัวที่ 29.8% ในส่วนของดุลการค้าไตรมาสแรกของปี 2022 ขาดดุลอยู่ที่ -944 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
มูลค่าการส่งออกในเดือนมีนาคมยังขยายตัวต่อเนื่องแต่เริ่มเห็นถึงสัญญาณชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามต่ออุปสงค์โลกและปัญหาชะงักงันของอุปทาน ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวได้ในอัตราที่เร่งตัวขึ้นที่ 19.5% จาก 16.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยหากพิจารณาเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ (ปรับผลของฤดูกาล) การส่งออกจะยังขยายตัวที่ 7.3% (MOM, SA) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามูลค่าส่งออกหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนภาวะการค้าที่แท้จริง การส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ 9.5% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 13.2% และ หากพิจารณาเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ (ปรับผลของฤดูกาล) การส่งออกหักทองจะขยายตัวเพียง 2.4% (MOM, SA)  สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ย่อลงมาอยู่ที่ 53 ต่ำที่สุด ในรอบ 18 เดือน สะท้อนทิศทางการชะลอตัวในภาคการผลิตในระยะข้างหน้า และดัชนีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (Export Orders) ที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 50 และอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 เดือนที่ 48.2 (รูปที่ 3 ซ้าย)  ซึ่งเป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ ปัญหาชะงักงันของอุปทานโลกเริ่มส่งผลต่อภาคการผลิตของไทย สะท้อนจากมูลค่าส่งออกรถยนต์ที่หดตัวลงกว่า 11% และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไปจากการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่เข้มงวดของจีน ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ EIC คาดว่าการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นเป็นลำดับ สะท้อนจากข้อมูลการส่งออก 20 วันแรกของเดือนเมษายนของเกาหลีใต้ที่ยังทรงตัวและอาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงหากจีนยังคงดำเนินมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดต่อไปและการส่งออกไปตลาดฮ่องกงที่หดตัวลงจากการกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้นในช่วงก่อนหน้า (รูปที่ 3 ขวา)
 
การส่งออกไปยุโรปยังขยายตัวได้แต่มีแนวโน้มชะลอลง โดยถึงแม้ว่าตัวเลขการส่งออกไปรัสเซียและยูเครน จะลดลงเป็นอย่างมากที่ 73% และ 77.8% ตามลำดับ รวมถึงดัชนี Manufacturing PMI ของรัสเซียในเดือนมีนาคม จะลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 1 ปีที่ 44.1 แต่ตลาดรัสเซียและยูเครนยังนับว่าเป็นตลาดส่งออกขนาดเล็กของไทย คิดเป็นเพียง 0.43% ของการส่งออกทั้งหมด (ข้อมูลปี 2021) ทำให้ผลกระทบต่อการค้าไทยยังคงค่อนข้างจำกัด ในขณะที่การส่งออกไปยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยที่มีสัดส่วนมูลค่าคิดเป็น 9.3% ยังขยายตัวได้ดีแม้จะชะลอตัวลงที่ 8% สอดคล้องกับดัชนี Manufacturing PMI ของยุโรปที่ถึงแม้ว่าจะลดตัวลงมาจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 54 แต่ก็ยังยืนเหนือระดับ 50 ได้ เป็นระยะเวลา 21 เดือนติดต่อกัน โดยหากภาวะสงครามในยูเครนยังคงยืดเยื้อ และส่งผลถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรป อาจส่งผลให้ส่งออกไทยในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดยุโรปสูง (รูป 4 ซ้าย) อย่างไรก็ตาม ส่งออกไทยในบางกลุ่มสินค้าอาจได้รับอานิสงส์จากการคว่ำบาตรต่อรัสเซียทำให้มีโอกาสเข้าไปทำตลาดในยุโรปได้มากขึ้น เช่น ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง ฟอสฟิเนต รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์โบไฮเดรตที่อาจนำมาทดแทนข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดของรัสเซียและยูเครน เป็นต้น (รูป 4 ขวา)
 
ในระยะถัดไปการส่งออกไปจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดและผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยตัวเลขการส่งออกจากไทยไปยังประเทศจีนขยายตัวในอัตราชะลอลงมากจากปีที่แล้วที่ 3.2% ในเดือนมีนาคม สอดคล้องกับตัวเลขการนำเข้าโดยรวมของจีนที่ชะลอลง (รูปที่ 5 ซ้าย) ดัชนี Manufacturing PMI ของจีนในที่ลดลงจาก 50.4 ในเดือนกุมภาพันธ์เหลือ 48.1 ในเดือนมีนาคม (รูปที่ 3 ซ้าย) และข้อมูลเร็วที่แสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน (รูปที่ 5 ขวา)

รูปที่ 3 : การส่งออกของไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง สอดคล้องกับดัชนี Manufacturing PMI และ ข้อมูลเร็วการส่งออกของเกาหลีใต้
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IHS Markit, S&P Global, Google และ CEIC

รูปที่ 4 : สินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดยุโรปสูงอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจยุโรปที่จะฟื้นตัวช้าลงจากเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของมาตรการตอบโต้ โดยมูลค่าการส่งออกไปยัง EU28 อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (9.3%)
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Trademap

รูปที่ 5 : ในระยะถัดไปการส่งออกไปจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดและผลกระทบจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีน
 
 
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Yicai Research Institute และ CEIC 

EIC ได้ปรับประมาณการส่งออกของไทยในปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 6.1% จากเดิม 3.4% (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน) แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุนโดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นหลักและมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ ซึ่งสอดคล้องกับการปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึง EIC และดัชนีราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนรายได้ของผู้ส่งออกไทยและอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งนับตั้งแต่เกิดสงครามเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดย EIC คาดเงินบาทในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่ามากที่ 13.2% 

รูปที่ 6 : EIC ปรับคาดการณ์ส่งออกไทยเติบโต 6.1% จากคาดการณ์เดิม 3.4% จากราคาสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน และแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลง
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์, WTO, IMF WEO, Bloomberg, IHS Markit และ CEIC

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/8245

 
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th)             
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส                                                     
วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th)
นักวิเคราะห์

 
ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร. ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
วชิรวัฒน์ บานชื่น
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ 
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
จงรัก ก้องกำชัย
นักวิเคราะห์
ณิชนันท์ โลกวิทูล
นักวิเคราะห์
ปัณณ์ พัฒนศิริ
นักวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี
นักวิเคราะห์
อสมา เหลี่ยมมุกดา
นักวิเคราะห์



 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 เม.ย. 2565 เวลา : 17:20:45
05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 11:09 pm