การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สธ.หนุน รพ.เอกชน/คลินิกทั่วประเทศ ใช้ยาสมเหตุผล ลดปัญหาเชื้อดื้อยา


กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการใช้ยาสมเหตุผล ส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนและคลินิก กว่า 30,000 แห่ง ทั่วประเทศ สั่งจ่ายยาแก่ผู้ป่วยอย่างสมเหตุผล ช่วยลดปัญหาเชื้อดื้อยาการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ลดการสูญเสียทรัพยากร และค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

 
 
วันนี้ (28 เมษายน 2565) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ด้านการใช้ยาสมเหตุผลในสถานพยาบาลเอกชน ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ บุคลากรด้านสาธารณสุขจากส่วนกลาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลเอกชน และคลินิก เข้าร่วมประชุมทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์
 
 
ดร.สาธิต กล่าวว่า การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU) ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดการเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ และช่วยลดการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา รวมถึงลดการสูญเสียทรัพยากรและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น โดยปัจจุบันยังคงพบการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผลเกิดขึ้นในสถานพยาบาล อาทิ การบริโภคยาปฏิชีวนะรักษาโรคหวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส การใช้ยาซ้ำซ้อนหรือมากเกินความจำเป็น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากสถานพยาบาลภาครัฐ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ กว่า 30,000 แห่ง ในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการใช้ยาสมเหตุผลให้เกิดขึ้นเป็นระบบงานประจำ ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและผู้ป่วยมีความปลอดภัยจากการใช้ยา
 
 
ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะร่วมกับศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการผลักดันให้สถานพยาบาลเอกชนเข้าถึงแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการใช้ยาสมเหตุผล รวมถึงประเมินตนเองด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลผ่านระบบออนไลน์ด้วย สำหรับการประชุมฯ ครั้งนี้นับเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสถานพยาบาลเอกชนและคลินิกทั่วประเทศ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการใช้ยาสมเหตุผล และการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ มาร่วมสร้างความตระหนักรู้และความตื่นตัวให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลทุกแห่งนำความรู้ที่ได้ไปใช้ จะช่วยยกระดับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านยาของสถานพยาบาล ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยา ลดการสูญเสียทรัพยากร และสูญเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นได้
 
 
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเกี่ยวกับฉลากบรรจุยา พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 17 มีนาคม 2565 กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง จะต้องจัดทำฉลากบรรจุยาให้มีรายละเอียดตรงตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด อาทิ มีการแสดงชื่อสถานพยาบาล ชื่อผู้ป่วย ชื่อสามัญหรือชื่อทางการค้าของยาเป็นภาษาไทย รูปแบบของยา ความแรง จำนวนยาที่จ่ายให้ผู้ป่วย วิธีการใช้ยา สรรพคุณ คำเตือน หรือข้อระวัง หรือข้อห้ามใช้ และวันหมดอายุของยา เป็นต้น โดยประกาศฯ ดังกล่าวกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับอนุญาตก่อนหน้านี้ ต้องจัดทำฉลากยาให้มีรายละเอียดถูกต้องตามที่กำหนด ภายใน 1 ปี ส่วนคลินิกที่ได้รับอนุญาตก่อนหน้านี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 2 ปี เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับทราบข้อมูลบนฉลากบรรจุยาตามสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้ยา

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 เม.ย. 2565 เวลา : 18:47:32
08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 12:26 am