เอสเอ็มอี
ทำความเข้าใจศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็ก ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการชี้วัดทักษะด้านดิจิทัล และระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล


ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเหมือนเหรียญสองด้าน ในทางหนึ่งสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยไม่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการเริ่มต้นธุรกิจและนำมาสู่ความทั่วถึงของการเป็นผู้ประกอบการ (inclusive entrepreneurship) แต่ในอีกทางหนึ่งก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มเติมจากการมีระดับทักษะด้านดิจิทัลที่แตกต่างกัน (digital divide) ของผู้ประกอบธุรกิจบางราย จนทำให้ไม่สามารถรักษาความสามารถการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้และนำมาสู่ช่องว่างของความมั่งคั่ง (wealth gap) ในที่สุด

 
 
โครงการวิจัยนี้มุ่งเป้าที่จะสร้างดัชนีชี้วัดทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็ก (SME digital literacy) และดัชนีชี้วัดระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (SME digital transformation index) เพื่อทดสอบสมมุติฐานสำคัญว่าระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลจะมีความเชื่อมโยงกับระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือไม่ และการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลในระดับองค์กร (digitalization) จะสามารถนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การเติบโต และการทำกำไรได้มากน้อยเพียงใด
 
โครงการวิจัยนี้พบหลักฐานสำคัญว่าผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในไทยส่วนใหญ่มีระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลต่ำโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจภาคการผลิต และการส่งเสริมทักษะความรู้ด้านดิจิทัลเป็นนโยบายที่สำคัญที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของธุรกิจจนนำมาสู่ศักยภาพการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น 
 
ดังนั้นภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมทักษะความรู้ด้านดิจิทัลที่ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ  เริ่มต้นจากทักษะความรู้พื้นฐานในการประกอบอาชีพ (cognitive skills และ soft skills) ไปจนถึงทักษะทางเทคนิค (digital skills) และทักษะการบูรณาการ (digital business strategy และ cybersecurity and data protection)
รูป 1 กรอบแนวคิดการชี้วัด SME digital literacy ที่เสนอโดยผู้วิจัย
 
การมีระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถยกระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล ซึ่งผู้วิจัยได้เสนอดัชนีชี้วัดระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล 3 ระดับได้แก่ 
 
1) ระดับการประยุกต์ใช้ดิจิทัล (digitization) เช่น การใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ
 
2) ระดับการผนวกรวมดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ (digitalization) เช่น การเพิ่มช่องทางขายด้านดิจิทัล และใช้ซอฟท์แวร์เฉพาะด้านเพื่อการประกอบธุรกิจ
 
3) ระดับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลแบบองค์รวม (digital transformation) เช่น การวิเคราะห์ฐานข้อมูลดิจิทัล และการออกแบบกลยุทธ์ธุรกิจดิจิทัล
 
ซึ่งการเปลี่ยนผ่านทั้ง 3 ระดับนี้จะนำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
 
รูป 2 กรอบแนวคิดการชี้วัด SME digital transformation index ที่เสนอโดยผู้วิจัย
 

จากการสำรวจผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กจำนวน 2,014 กลุ่มตัวอย่าง ครอบคลุมทุกพื้นที่ในไทย และครอบคลุม 4 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ 1) การขายปลีกและ/หรือขายส่ง 2) การผลิต 3) บริการอาหารและเครื่องดื่ม และ 4) ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายใหม่ (gig workers) พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
 
• ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในไทยมีระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลที่ค่อนข้างต่ำ สะท้อนจากสัดส่วนร้อยละ 40 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มมือใหม่ (digital infant) ที่มีระดับทักษะความรู้แบบลองผิดลองถูก และยังไม่สามารถใช้ทักษะดังกล่าวได้ในระดับพื้นฐาน
 
• กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มีทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลสูง และสามารถบริหารความเสี่ยงด้านไซเบอร์ได้เป็นอย่างดี (digital expert) กระจุกตัวอยู่ที่บางกลุ่มเท่านั้น โดยจะมีลักษณะเด่นเป็นกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก (คนทำงาน 11-100 คน) หรือเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระใหม่ และเจ้าของกิจการจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปเท่านั้น
 
• ระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลมีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยระดับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สูง สามารถสร้างความมั่นใจว่าผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถสร้างรายได้จากการประกอบธุรกิจที่สูงตามไปด้วย มีการเติบโตที่สูงกว่าคู่แข่ง มีอัตราการทำกำไรที่สูงกว่าคู่แข่ง และมีเป้าหมายการเติบโตที่สูงมากกว่า 2 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า
 
• ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในไทยที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสูงอยู่แล้ว ยังมีความพยายามที่จะหาแนวทางประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เพื่อให้ธุรกิจได้รับประโยชน์จากวิกฤติดังกล่าวให้มากที่สุด 
 
 
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล (digital divide) จนนำมาสู่ช่องว่างของความมั่งคั่ง (wealth gap) ที่สูงมากขึ้นในอนาคต ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะความรู้ด้านดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของผู้ประกอบการดังนี้
 
1) การส่งเสริมทักษะไม่ควรทำแบบเหมารวม แต่ควรมีโครงการเฉพาะสำหรับแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและขนาดเล็กในไทยมีความหลากหลายของระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัล เช่น กลุ่ม digital expert ควรมุ่งเน้นให้สามารถบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างกลยุทธ์ธุรกิจ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ขณะที่กลุ่ม digital infant ควรส่งเสริมเฉพาะความรู้พื้นฐานด้านการประกอบธุรกิจและการใช้อินเทอร์เน็ตและซอฟท์แวร์พื้นฐานในการติดต่อสื่อสารก่อน
 
2) การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลควรทำอย่างมีขั้นตอนและเป็นระบบ โดยควรเริ่มต้นจากการมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความครอบคลุม มีความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลที่เหมาะสมในระดับราคาที่ย่อมเยา ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มล้าหลังด้านดิจิทัล (digital laggards) สามารถเริ่มเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัลได้ หลังจากนั้นควรมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการใช้ซอฟท์แวร์พื้นฐานในการประกอบธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจกลายเป็นกลุ่มผู้ตามด้านดิจิทัล (digital followers) แล้วจึงส่งเสริมซอฟท์แวร์เฉพาะทางในการประกอบธุรกิจจนเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่เรียกว่ากลุ่มประยุกต์ใช้ดิจิทัล (digital adopters) และสุดท้ายคือการส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการวิเคราะห์ต่อยอดทางธุรกิจ จนทำให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัล (digital front-runners) ในที่สุด
 
3) การประยุกต์ใช้ดิจิทัลต้องมุ่งเป้าที่การเพิ่มยอดขายเป็นลำดับแรก เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจยอมรับและมีความมั่นใจในการประยุกต์ใช้ดิจิทัล แล้วจึงค่อยส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อลดต้นทุน เพิ่มอัตราการทำกำไร และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินทุน

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 พ.ค. 2565 เวลา : 19:28:49
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 7:50 am