คุณภาพชีวิต
กรมวิชาการเกษตร เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเครือข่ายศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ


กรมวิชาการเกษตร จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ (National Plant Genetic Resources Center, NPGRC) ครั้งที่ 1/2565 เน้นความสำคัญของหน่วยงานเครือข่าย และการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติที่บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรมพืชระหว่างหน่วยงานใน NPGRC สู่การนำไปใช้ประโยชน์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพของการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชของประเทศ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชในระยะยาว ทั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์และการอนุรักษ์ในสภาพแปลงปลูก (field collection) พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการปฏิบัติงาน และองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์เชื้อพันธุ์พืช เพื่อรักษาความยั่งยืนของฐานทรัพยากรพันธุกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารของโลก

 

 
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยภายหลังมอบสาส์นแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมและคณะกรรมการประสานงานศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบ VDO Conference ในวันพุธที่ 18พฤษภาคม 2565 ว่า การจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชหรือ NPGRC ได้เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561 เป็นโครงการบูรณาการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 17 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของทรัพยากรพันธุกรรมพืช และจัดการฐานข้อมูลพันธุกรรมพืชของไทย โดยมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือระยะยาวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร ระบบอาหาร การพัฒนาด้านการเกษตร และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาและเพิ่มสมรรถนะบุคลากรของหน่วยงานใน NPGRC ด้วยการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่
 

 
ในส่วนธนาคารเชื้อพันธุ์พืชกรมวิชาการเกษตร ภายใต้การดูแลของสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีบทบาทเป็นองค์กรประสานงานหลักของ NPGRC ในส่วนของทรัพยากรพันธุกรรมพืช เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกของ NPGRC ทำให้การอนุรักษ์และบูรณาการทรัพยากรพันธุกรรมพืชประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบัน NPGRC ขับเคลื่อนผ่านเครือข่ายความร่วมมือ
 

 
ระหว่างหน่วยงานสมาชิก กลไกการดำเนินงานของ NPGRC ประกอบด้วยคณะกรรมการโดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และในปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรหรือ HLPDAB ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 รวมถึงยังมีการประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียครั้งที่ 27 ที่จะจัดขึ้น ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 14-18 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วย
 

 
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงองค์การวิจัยเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ NARO ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตรและประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรพันธุกรรมเป็นศูนย์กลางที่รับผิดชอบในการรวบรวม และนำเสนอทรัพยากรพันธุกรรมอันมีคุณค่าต่อการวิจัยและพัฒนาด้านอาหารและการเกษตร อีกทั้งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย NPGRC อย่างเป็นรูปธรรม และแสดงให้เห็นว่า เครือข่าย NPGRC จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำในการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชของภูมิภาคอาเซียนต่อไปในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 พ.ค. 2565 เวลา : 00:21:28
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 9:23 pm