ซีเอสอาร์-เอชอาร์
"ซีพีเอฟ" จับมือเครือข่ายชุมชน เดินหน้าโครงการ "กับดักขยะทะเล" ร่วมฟื้นฟูทะเลสะอาด


"ประเทศไทย" ทิ้งขยะลงทะเลเป็นอันดับต้นๆของโลก แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาอย่างจริงจัง  แต่ปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยที่ทุกภาคส่วนต้องมีความตระหนักและลงมือทำ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ และดูแลความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง

\
 
ภายใต้ความมุ่งมั่นปกป้องทะเลโลก ( Restore the Ocean) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในฐานะบริษัทผลิตอาหารระดับโลก ที่ส่งมอบอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 4 พันล้านคน ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดูแลและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทางแหล่งวัตถุดิบในการผลิตอาหารอย่างรู้คุณค่า
 

 
ซีพีเอฟ นำร่อง "โครงการกับดักขยะทะเล"  (Trap the sea  Trash) โดยร่วมมือกับ ชุมชนต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 และหมู่ที่  6 และเทศบาลตำบลบางหญ้าแพรกสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ลดการทิ้งขยะ เก็บ ดักขยะในคลองสาธารณะ ของตำบลบางหญ้าแพรก ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำบริเวณปากอ่าวและทะเลอ่าวไทยตอนบน เพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่ทะเล ควบคู่ไปกับส่งเสริมการบริหารจัดการขยะทะเล  ตามแนวทาง 3R  คือ ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ซ้ำ  (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่  (Recycle) สนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  ให้ชุมชนมีรายได้  จากการนำขยะไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นและถูกวิธี
 

 
สมบูรณ์ สินทะเกิด หรือ ป้าติ๋ม อายุ 65 ปี ประธานคณะทำงานโครงการกับดักขยะทะเล ชุมชนบางหญ้าแพรก กล่าวว่า ปัจจุบันคณะทำงานโครงการกับดักขยะทะเลมีสมาชิก 17  คน เป็นคนในพื้นที่หมู่ 4 หมู่ 5 และ หมู่  6  ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ซึ่งเดิมชุมชน และจิตอาสาช่วยกันดูแลเรื่องขยะกันอยู่แล้ว เพราะมีปริมาณขยะในคลองค่อนข้างเยอะ เราอยากสร้างความตระหนักให้ทุกครัวเรือนในชุมชนร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขยะที่ไหลออกสู่ทะเล ทำให้ระบบนิเวศทะเลเสื่อมโทรมลง ถ้าปล่อยให้อยู่ในสภาพแบบนี้ไปเรื่อยๆ รุ่นลูกหลานของเราก็จะลำบาก  คณะทำงานฯ ของเราจึงพยายามสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนจัดการขยะให้ เป็นที่เป็นทาง โดยมีซีพีเอฟให้การสนับสนุนอุปกรณ์การเก็บขยะ ที่ดักขยะ การแยกขยะ เป็นขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น  ขวดพลาสติก ฝาพลาสติก ซึ่งสามารถสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนได้ หรือเป็นรายได้เสริมให้กับผู้ที่ว่างงาน ผู้สูงอายุ เป็นต้น มีการติดตามว่าชุมชนได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ส่วนขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้ เช่น ที่นอน ถุงพลาสติก ก็จะส่งต่อให้เทศบาลฯนำไปกำจัด
 
 
"หลังจากที่เราร่วมกันทำกิจกรรมเก็บขยะมาหลายครั้ง เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ คนที่เคยทิ้งขยะลงคลองมีจำนวนน้อยลง ปริมาณขยะในคลองก็น้อยลง น้ำในคลองสะอาดขึ้น มีปลาตัวเล็ก ตัวน้อยที่เข้ามามากขึ้น เราคาดหวังว่าโครงการกับดักขยะทะเล จะสามารถต่อยอดต่อไปได้ ส่งเสริมคนในชุมชนเห็นคุณค่าและเห็นประโยชน์ของการเก็บขยะ การแยกขยะ" ประธานคณะทำงานโครงการกับดักขยะทะเล ชุมชนบางหญ้าแพรก กล่าว
 

 
ด้านนางประทุม ชาวสมุทร อาชีพรับจ้าง เป็นหนึ่งในสมาชิกของ โครงการกับดักขยะทะเล ชุมชนบางหญ้าแพรก เล่าว่า ขอขอบคุณซีพีเอฟที่เข้ามาสนับสนุนการทำกิจกรรมของชุมชนในพื้นที่ จากที่เข้ามาร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าชายเลนในพื้นที่ต.บางหญ้าแพรก ส่งเสริมการเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนบางหญ้าแพรก เพื่อให้ชุมชนมีรายได้และพึ่งพาตนเองได้ และเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมโครงการกับดักขยะทะเล บริเวณคลองฮะบ๊วย ท่าเทียบเรือบางหญ้าแพรก และคลองนาเกลือมณีรัตน์ ทำให้สภาพน้ำในคลองสะอาดขึ้น ปริมาณขยะน้อยลง คนในชุมชนที่เคยทิ้งขยะลงคลอง เห็นเพื่อนๆ ออกมาช่วยกันเก็บขยะในคลอง เดือนละ2-3 ครั้ง  ก็มีความตระหนักมากขึ้น  ช่วยกันดูแลปัญหาขยะในคลอง  ไม่ทิ้งขยะลงคลอง คณะทำงานฯ คิดกันว่าจะเชื่อมโยงเรื่องการบริหารจัดการขยะไปสู่สถานศึกษาในพื้นที่ต่อไป  เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกจากรุ่นสู่รุ่น
 

 
"โครงการกับดักขยะทะเล" ขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์ป่าชายเลนของซีพีเอฟ ซึ่งที่ผ่านมา ซีพีเอฟจับมือชุมชนชาวบางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร และชุมชนชาวปากน้ำประแส จ.ระยอง  โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2565 มีปริมาณขยะที่เก็บได้ในพื้นที่บางหญ้าแพรก 2,850 กิโลกรัม ทั้งขยะพลาสติกและขวดแก้ว ที่สามารถนำไปขายให้กับคนรับซื้อขยะ  และนำเงินมาใช้สนับสนุนการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในชุมชน  ส่วนขยะทั่วไป ทางเทศบาลนำไปกำจัดตามแนวทางที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมเก็บขยะบริเวณพื้นที่ปาชายเลน ต.ปากน้ำประแส  อ.แกลง  จ.ระยอง ซึ่งดำเนินการปีละ 2 ครั้ง โดยบริษัทฯ สร้างเครือข่ายร่วมทำกิจกรรม อาทิ  กลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยววิถีชุมชนปากน้ำประแส กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลปากน้ำประแส อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) โรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม เป็นต้น โดยกิจกรรมครั้งล่าสุด ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสามารถเก็บขยะได้ 1,537 กิโลกรัม
 

 
ทั้งนี้กิจกรรมเก็บขยะในโครงการกับดักขยะทะเล เป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน" ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี  2557- 2561 เป็นระยะที่หนึ่งสามารถอนุุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนไปรวม 2,388 ไร่ พื้นที่ยุทธศาสตร์ จ.ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร พังงา และสงขลา และปัจจุบันอยู่ในระยะที่สองของโครงการ (ปี  2562 - 2566 ) มีเป้าหมายอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติม ในพื้นที่ป่าชายเลน  จ.ระยอง จ.สมุทรสาคร และจ.ตราด  มากกว่า 10,000 ไร่  ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน และยังพบปริมาณ กุ้ง หอย ปู ปลา เพิ่มขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพประมงมีรายได้มากขึ้นด้วย โดยปัจจุบัน ซีพีเอฟ ได้สนับสนุนสู่การเป็นเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร และเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง เพื่อให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
 

 
ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมปกป้องและดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า และท้องทะเล ซึ่งสอดรับกับแนวทางที่สหประชาชาติกำหนดแนวคิดสำหรับ "วันทะเลโลก" ปีนี้ 8 มิถุนา ยน 2022 การฟื้นฟู :  ลงมือทำร่วมกันเพื่อท้องทะเล  อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 พ.ค. 2565 เวลา : 12:42:28
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:57 pm