การค้า-อุตสาหกรรม
สศก. เจ้าภาพ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้กรอบเอเปค จับมือสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ พัฒนาภาคเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก


นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ภายใต้กรอบเอเปค ซึ่ง สศก. เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 23 - 24 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ และผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตาม “แผนปฏิบัติการสำหรับกรอบยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาชนบทและเขตเมือง” ของคณะทำงานหุ้นส่วน เชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย สมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยุวเกษตรกร องค์การระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ มูลนิธิชัยพัฒนา โครงการระบบสารสนเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหารแห่งภาคพื้นอาเซียน (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) องค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)


 
 
การจัดประชุมครั้งนี้ นับเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่ได้เผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นความพอประมาณ การมีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน ให้เป็นที่รู้จัก ในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยด้วย BCG Model เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตร ของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน อันมีความสอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภคให้ดีขึ้นจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
 
 

 
ด้านนายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการ สศก. ในฐานะประธานการประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า ประเทศไทยได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในบริบทต่างๆ 4 ด้านหลักสำคัญ ประกอบด้วย
 
1) ด้านการดำเนินการตามตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวชี้วัดที่ 2.4.1 ภายใต้โครงการความร่วมมือของ ไทย-FAO ฉบับปี 2560-2564 ด้านการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการสำหรับการวัดและการติดตามความก้าวหน้าในการเลือกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และโครงการสนับสนุนและส่งเสริมการสำรวจการเกษตรแบบยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน (SAS-PSA)
 
2) ด้านการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและภัยพิบัติ ได้แก่ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร เพื่อเพิ่มการฟื้นตัวความยั่งยืนในพื้นที่สูง และ การส่งเสริมบทบาทของกลไกสำรองข้าวเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารที่เกิดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสินค้าข้าว
 
3) ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในเขตเมืองและเขตชนบท โดยไทย นำเสนอการพัฒนาแพลตฟอร์ม (Platform) ทางด้านเกษตรดิจิทัลภายใต้ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต ลดต้นทุน ลดความสูญเสียของผลผลิตเป็นการยกระดับมาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาพัฒนาการเกษตรตั้งแต่ระดับฟาร์มไปถึงผู้บริโภค ขณะที่ จีน ได้ร่วมนำเสนอนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ชนบท ได้แก่ การปรับโครงสร้างกลไกองค์กรเกษตรเพื่อให้เกิดมาตรฐาน การสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และส่งเสริมการบูรณาการห่วงโซ่อุตสาหกรรม และช่วยเกษตรกรสร้างรายได้จากเกษตรกรรมยั่งยืน
 
และ 4) ด้านการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศสมาชิก ประกอบด้วย เกาหลีใต้ จีนไทเป สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไทย ได้นำเสนอการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ในการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนทั้งในภาคการผลิต และการบริโภค เช่น เกษตรกรรมแม่นยำ การเกษตรแนวตั้ง อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง โดรน ปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูลขนาดใหญ่ แพลตฟอร์มด้านดิจิทัล เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร ตลอดจนลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารร่วมกัน
 
 

LastUpdate 26/05/2565 20:05:56 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:00 pm