การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
คุณหญิงกัลยา ชู Coding ขยายผลโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตสู่ 346 โรงเรียน มุ่งสร้างกระบวนการคิด วิเคราะห์ สู่การปฏิบัติจริง ยกระดับองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม สร้างประโยชน์ต่อชุมชนและเศรษฐกิจประเทศ


ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายโชติ โสภณพนิช ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย, นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช),ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา และคณะทำงานโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 ณ โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม และโรงเรียนชุมชนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย

 
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักคิด วิเคราะห์ อย่างเป็นระบบโดยใช้ Coding วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาบูรณาการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในภาคการเกษตร เด็กเกิดทักษะการวางแผน สามารถนำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติและต่อยอดในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะเกษตรกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ
 
โดยในปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมาได้กระทรวงศึกษาธิการเปิดโครงการนำร่อง ใน 6 โรงเรียน ซึ่งประกอบด้วย 1.โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม จังหวัดเชียงราย, 2.โรงเรียนชุมชนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย, 3.โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่, 4. โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่, 5.โรงเรียนเวียงมอกวิทยา จังหวัดลำพูน และ 6.โรงเรียนศรีสังวาลย์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ดังนั้นในปีการศึกษา 2565 นี้ จึงได้มีการขยายผลโครงการไปสู่โรงเรียนในสังกัดเพิ่มอีก 346 โรงเรียน โดยแบ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 237 โรงเรียน และโรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 109 โรงเรียน
 
 
“โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียนนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมมีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยม ใช้เวลาเพียง 5-6 เดือนก็สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ ทำให้มีโรงเรียนสนใจอยากเช้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากกว่า 600 โรงเรียน แต่ปีการศึกษานี้สามารถคัดเลือกและรับได้เพียง 346 โรงเรียน อย่างไรก็ตามทางสพฐ.จะดำเนินการขยายผลไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้มากที่สุด แม้จะเป็นโครงการเล็กๆ แต่เชื่อว่าจะสามารถสร้างเด็กไทย และคนไทยให้เข้มแข็ง ยกระดับองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมโดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ จนสามารถขยายประโยชน์ไปต่อชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
 
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า สำหรับการติดตามความก้าวหน้าโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม และโรงเรียนชุมชนดอยช้าง จังหวัดเชียงรายในครั้งนี้มีผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ในการสร้างองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน เข้ามาใช้ประโยชน์ ในภาคการเกษตร หรือเรียกว่า Coding For Farm ซึ่งทั้ง 2 โรงเรียนเป็นตัวอย่างความสำเร็จได้อย่างชัดเจน ในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักเรียน ตั้งแต่กระบวนการคิด วางแผน และลงมือทำอย่างเป็นระบบ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ให้เป็นทักษะชีวิต
โอกาสนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้ทำพิธีเปิดร้านกาแฟเด็กดอยช้างคอฟฟี่ ในบริเวณโรงเรียนชุมชนดอยช้าง ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่บริหารจัดการโดยครู นักเรียน และชาวชุมชนดอยช้าง โดยใช้วัตถุดิบ อาทิ เมล็ดกาแฟ และผลผลิตทางการเกษตรจากในชุมชน ถือเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ สร้างประสบการณ์ รวมถึงสร้างรายได้ให้กับเด็กนักเรียนและโรงเรียน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ค. 2565 เวลา : 19:31:05
01-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2024, 10:38 pm