การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สสวท. เร่งยกระดับผลการเรียนรู้วิทย์-คณิต เผยเหตุปัจจัยพัฒนาคุณภาพผู้เรียน วอนหน่วยงานเกี่ยวข้องใช้แนวทาง สสวท. เพิ่มมาตรฐานการศึกษาวิทย์ คณิตให้เด็กไทย


ประเทศไทยมีพัฒนาการในการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง แต่การยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้ด้านดังกล่าวขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอีกหลายด้าน เมื่อพิจารณาจากระดับคะแนนเฉลี่ย O-NET หรือ ผลการประเมิน PISA ของเด็กไทยสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพ กล่าวคือ นักเรียนที่มีสถานะได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมมีผลการทดสอบในทุกวิชาดีกว่านักเรียนที่เสียเปรียบ อีกทั้งความพร้อมด้านครูและเครื่องมือสำหรับจัดการเรียนการสอนที่แต่ละโรงเรียนยังแตกต่างกัน

 

 
นายพรชัย อินทร์ฉาย รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศา สตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวถึงปัจจัยที่ส่งต่อผลการประเมินคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนมีหลากหลาย เช่น เจตคติของนักเรียนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ปกครอง การบริหารโรงเรียนและทรัพยากรที่สนับสนุนการเรียนรู้ ครูและการพัฒนาครู วิธีการจัดการเรียนรู้และพฤติกรรมในการเรียนรู้ นโยบายการศึกษา และการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ข้อสังเกตสำคัญจากผลการประเมิน PISA 2018 แสดงให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงได้ หากหน่วยงานระดับนโยบายสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาได้สำเร็จ โดยขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ทั่วถึง การประเมิน PISA 2018 สะท้อนถึงการอ่านที่เปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับการใช้ข้อมูลในชีวิตจริงของผู้คนทั่วโลก ดังนั้น สสวท. จึงส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปในการเรียนการสอนเพื่อสร้างความคุ้นเคยและยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนในยุคดิจิทัล แนวโน้ม  คะแนนการอ่านของไทยยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วนและพบว่านักเรียนที่แม้จะมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยแต่ก็สามารถทำคะแนนได้ดี โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงบวก คือ การสนับสนุนจากพ่อแม่ บรรยากาศในโรงเรียน และกรอบความคิดแบบเติบโต ผล PISA 2018 ชี้ว่า นักเรียนไทยมีกรอบความคิดแบบเติบโตเพียง 43% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD อยู่ที่ 63% แสดงให้เห็นว่า นักเรียนไทยจำนวนมากยังเชื่อว่าสติปัญญาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต หากมีการส่งเสริมเรื่องการสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตให้นักเรียนก็จะช่วยพัฒนานักเรียนได้มากขึ้น”

ในส่วนของการยกระดับคุณภาพการศึกษาดังกล่าว สสวท.ได้ขับเคลื่อนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วโดยร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับเปลี่ยนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ภายใต้แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ และพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียน ซึ่งกรอบการทำงานที่สำคัญประกอบด้วย การพัฒนาหลักสูตร และสื่อการเรียนการสอน การพัฒนาการจัดการเรียนการสอน และ การพัฒนาแนวทางวัดและประเมินผลการเรียนรู้

สสวท. มีความพยายามในการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเริ่มแรกได้นำร่องพัฒนาครูและโรงเรียนในโครงการโรงเรียนคุณภาพ 1,512 แห่ง และโรงเรียนในเครือข่ายของโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) 221 แห่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยของการสอบ O-NET วิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนดังกล่าวซึ่งครูผ่านการพัฒนาและได้ดําเนินการตามกระบวนการและผลผลิตของ สสวท. ทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า ในวิชาคณิตศาสตร์ มีคะแนน O-NET สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยประเทศอยู่ที่ร้อยละ 15.8-17.5 ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 และอยู่ที่ร้อยละ 10.0-11.1 ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนคะแนนวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ย การสอบ O-NET สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยประเทศเช่นกันโดยมีคะแนน O-NET สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 5.7-8.5 ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 และอยู่ที่ร้อยละ 5.1-5.5 ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6

จากรายงานผลการติดตามการใช้หนังสือเรียนและการอบบรมครูของ สสวท. ซึ่งได้ประเมินผลครูและนักเรียนหลังจากใช้หนังสือเรียนควบคู่กับการอบรมครูของ สสวท. พบว่า หลังจากการใช้หนังสือเรียนควบคู่กับการอบรมกับ สสวท. (ปี 2564) ครูมีพฤติกรรมการสอนที่เน้นการสอนให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์มากขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนใช้หนังสือเรียนของ สสวท. (ปี 2562) สอดคล้องกับการประเมินคุณภาพการสอนของครูโดยผู้เชี่ยวชาญที่พบว่าครูมีคุณภาพการสอนดีขึ้น โดยปี พ.ศ. 2564 พบว่า จำนวนครูที่มีคุณภาพการสอนในระดับพอใช้ลดลง และมีจำนวนครูที่มีคุณภาพการสอนดีและดีมากเพิ่มขึ้นจากปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของหลักสูตรกำหนดไว้ ส่วนผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน (คะแนน O-NET) พบว่าหลังใช้หนังสือเรียนควบคู่กับการอบรมกับ สสวท. สูงกว่าก่อนใช้ทุกระดับ

“สิ่งจำเป็นที่ สสวท. กำลังเร่งเปลี่ยนแปลง คือ การพัฒนาครูให้จัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ และการพัฒนารูปแบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่วัดการนำความรู้ไปใช้ และการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหามากกว่าวัดความจำ เพื่อให้การเรียนรู้เสริมผู้เรียนให้เกิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่ง สสวท. ได้ดำเนินงานหลายโครงการเพื่อให้การศึกษาวิทยาศาสตร์ไทยเดินหน้าและพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นการดีหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานศึกษานำแนวทางการพัฒนาของ สสวท. รวมทั้งหนังสื่อ สื่อ และบริการของ สสวท. ไปใช้อย่างแพร่หลายและต่อเนื่องก็จะช่วยหนุนเสริมยกระดับการศึกษาไทยให้ไวขึ้นและสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายพรชัย กล่าวปิดท้าย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 พ.ค. 2565 เวลา : 15:58:52
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 3:35 am