เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ การประชุม FOMC คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50


การประชุม FOMC วันที่ 14-15 มิ.ย.  คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 และคงจะส่งสัญญาณแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางตัวเลขเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นและแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี


ในการประชุม FOMC วันที่ 14-15 มิ.ย. นี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ ขณะที่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ที่ออกมาล่าสุดกลับเร่งตัวสูงขึ้นและแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 8.6% YoY ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะยังคงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นหลักและส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่อง

เฟดจะยังคงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นหลัก ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวในระดับสูงและมีแนวโน้มที่จะไม่ชะลอลงในระยะอันใกล้ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. 2565 พลิกกลับมาเร่งสูงขึ้นและแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ระดับ 8.6% YoY หลังจากชะลอตัวลงในเดือนก่อนหน้าที่ 8.3% YoY และสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 8.3% ขณะที่หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค. 2565 ขยายตัวที่ 1.1% MoM ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นนั้นออกมาเหนือความคาดหมายของตลาดที่มองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วและมีแนวโน้มที่จะชะลอลง ทั้งนี้ ปัจจัยผลักดันหลักของเงินเฟ้อเดือนพ.ค. 2565 ยังคงมาจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่ราคาสินค้าอื่นๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นวงกว้างตั้งแต่ราคาอาหารไปจนถึงค่าเช่าบ้าน ท่ามกลางปัญหาห่วงโซ่อุปทานและการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น คาดว่าเฟดคงจะยังให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นหลักและคงจะส่งสัญญาณว่าจะใช้นโยบายทางการเงินแบบแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ โดยในการประชุม FOMC รอบเดือนมิ.ย. 2565 ที่จะถึงนี้รวมถึงในรอบเดือนก.ค. เฟดคงจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 ตามที่ได้เคยส่งสัญญาณไว้ โดยแม้จะมีแรงกดดันให้เฟดใช้ยาแรงมากขึ้น แต่เฟดคงจะไม่ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.75 เนื่องจากจะเป็นการสร้างความวิตกกังวลในตลาดเงินและตลาดทุนจนเกินควร อย่างไรก็ดี เฟดอาจส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 หลังการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า  ซึ่งเฟดคงจะรอติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในแต่ละรอบการประชุม โดยหากเงินเฟ้อยังคงไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 ในทุกรอบการประชุมที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.00-3.25 ณ ปลายปีนี้ ทั้งนี้ ในการประชุมรอบนี้จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ซึ่งคงเป็นอีกจุดสนใจในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากจะสะท้อนมุมมองของเฟดต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยตลาดคงจะจับตา Fed Dot Plot ที่จะบ่งชี้ประมาณการดอกเบี้ยนโยบายว่าจะอยู่ที่ระดับใด 
 
ทั้งนี้ แม้ว่าเฟดจะพยายามประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ไปสู่ soft landing แต่ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการเงินแบบแข็งกร้าวต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น แต่ความเป็นไปได้ในปีนี้ยังต่ำอยู่ เนื่องจากโดยภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้ GDP จะหดตัวที่ -1.5% ในไตรมาส 1/2565 โดยตลาดแรงงานมีแนวโน้มแข็งแกร่งหลังจากอัตราการว่างงานเดือนพ.ค. 2565 ยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับระดับในช่วงก่อนโควิด อีกทั้งการจ้างงานก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าอาจจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ท่ามกลางแรงส่งจากปัจจัยบวกต่างๆ ที่ลดลง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูงจากประเด็นด้านเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัวอย่างต่อเนื่องของเฟดซึ่งจะไปกดดันการบริโภคที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ชะลอตัวลง อีกทั้งยังจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐฯ รวมถึงทั่วโลกให้ปรับตัวลงอีกด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 มิ.ย. 2565 เวลา : 13:56:54
07-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2024, 5:45 am