แบงก์-นอนแบงก์
คลังเผยร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 - 2570


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 (ร่างแผนปฏิบัติการฯ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ


โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย ทางเศรษฐกิจหลายประการ โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การมีพฤติกรรมการใช้จ่ายและการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงทางการเงิน รวมถึงความไม่เข้าใจบริการทางการเงินรูปแบบใหม่อย่างถ่องแท้ ทำให้ไม่สามารถ ใช้ประโยชน์หรือป้องกันตนเองจากการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น การพัฒนาทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) จึงถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาข้างต้นได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้คนไทยมีทักษะทางการเงิน ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตประจำวัน สามารถตัดสินใจทางการเงินได้อย่างรอบคอบและมีเหตุผล สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางการเงินที่เชื่อถือได้ สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับตนเอง และสามารถวางแผนบริหารจัดการการเงินของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ร่างแผนปฏิบัติการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบนโยบายและกลไกบูรณาการ การดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงิน รวมถึงเป็นแนวทางการจัดทำโครงการและกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะทางการเงินของคนไทยให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด โดยมีคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงินซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานและกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ขับเคลื่อน การดำเนินการตามร่างแผนปฏิบัติการฯ อย่างบูรณาการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตตามเป้าหมายของร่างแผนปฏิบัติการฯ ใน 3 เป้าหมาย ได้แก่

1) คนไทยตระหนักรู้ (Awareness) ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงินและเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน

2) คนไทยมีความรู้และทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) เพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต

3) ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Mechanism)

ซึ่งการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานผู้ให้ความรู้ มีแนวทางการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาทักษะทางการเงิน ทำให้คนไทยมีทักษะทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถบริหารจัดการเงินของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะมี ส่วนเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประชาชน ตลอดจนเสถียรภาพให้แก่ระบบการเงินและเศรษฐกิจ ของประเทศได้ต่อไป

นอกจากนี้ ร่างแผนปฏิบัติการฯ ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) ด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และด้านการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ด้านการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ด้านการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และด้านการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนและนโยบายของภาครัฐที่นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้กำหนดเป้าหมายปี 2565 ให้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ซึ่งร่างแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ จะช่วยสนับสนุนให้คนไทยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน

 


LastUpdate 15/06/2565 09:18:26 โดย : Admin
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 6:15 am