การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สวนดุสิตโพล : ประชาชนคิดอย่างไร กับ การจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ


จากกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 19 -22 ก.ค.65 โดยพุ่งเป้าไปที่ 11 รัฐมนตรี ส่งผลให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ถูกจับตามอง เนื่องจากอาจเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายก่อนที่รัฐบาลจะครบเทอมและเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ต่อไป เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,021 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 4-7 กรกฎาคม 2565 สรุปผลได้ ดังนี้


1. ณ วันนี้ ถึงเวลาหรือยังที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ถึงเวลาแล้ว 83.38% ยังไม่ถึงเวลา 16.62%

2. ประชาชนสนใจติดตาม “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่กำลังจะมีขึ้นหรือไม่

สนใจ 71.02% ไม่สนใจ 28.98%

3. ประชาชนอยากให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องใดบ้าง

อันดับ 1 ผลงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 75.67%

อันดับ 2 สาเหตุของสินค้าแพง การควบคุมราคาสินค้า 73.49%

อันดับ 3 การทุจริต คอรัปชั่น เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง 70.71%

อันดับ 4 การแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน 64.45%

อันดับ 5 การใช้งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง อนุมัติโครงการต่างๆ 60.58%

4. สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

อันดับ 1 เนื้อหาที่นำมาอภิปรายไม่ซ้ำ ค้านอย่างมีเหตุผล มีหลักฐาน 80.18%

อันดับ 2 ควบคุมอารมณ์ สุภาพ ให้เกียรติกัน 77.50%

อันดับ 3 นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง 76.11%

5. สิ่งที่ประชาชนไม่อยากเห็นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

อันดับ 1 การโต้เถียง ทะเลาะเบาะแว้ง การประท้วงบ่อยครั้ง 84.33%

อันดับ 2 เล่นเกมการเมืองมากเกินไป ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน 68.95%

อันดับ 3 พูดนอกประเด็น นำเรื่องเก่ามาพูด 64.84%

6. ประชาชนคิดว่าการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นจะส่งผลให้เกิดการยุบสภาหรือไม่?

มีผล 46.03% ไม่มีผล 35.46% ไม่แน่ใจ 18.51%

7. ประชาชนคิดว่ารัฐมนตรีคนใด ที่ควรจะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ

อันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม 78.51%

อันดับ 2 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 65.17%

อันดับ 3 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข 61.30%

อันดับ 4 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ 50.20%

อันดับ 5 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม 38.59%

*หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)

สรุปผลการสำรวจ : การจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,021 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 4-7 กรกฎาคม 2565 พบว่า ส่วนใหญ่มองว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยละ 83.38 โดยสนใจติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมีขึ้น ร้อยละ 71.02 ทั้งนี้อยากให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นผลงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุด ร้อยละ 75.67 สิ่งที่อยากเห็นจากการอภิปราย คือ เนื้อหา ที่นำมาอภิปรายไม่ซ้ำ ค้านอย่างมีเหตุผล มีหลักฐาน ร้อยละ 80.18 สิ่งที่ไม่อยากเห็น คือ การโต้เถียง ทะเลาะเบาะแว้ง การประท้วงบ่อยครั้ง ร้อยละ 84.33 และมองว่าการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นอาจจะมีผลให้เกิดการยุบสภา ร้อยละ 46.03 รัฐมนตรีที่ควรจะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ อันดับ 1 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ร้อยละ 78.51 รองลงมา คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 65.17 อันดับ 3 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ร้อยละ 61.30

จากผลโพลสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านจึงควรใช้โอกาสนี้อย่างคุ้มค่าในการซักฟอกรัฐบาลเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน ส่วนรัฐบาลเองก็ควรชี้แจงผลงานที่ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสาเหตุของสินค้าแพงค่าแรงถูกเป็นสิ่งที่ประชาชนคาใจและอยากจะรู้ ทั้งนี้ประชาชนก็หวังว่าการอภิปรายครั้งนี้จะมีข้อมูลใหม่ ๆ ไม่ประท้วงนอกประเด็น ไม่เป็นเพียงการละคร เพื่อให้การอภิปรายนั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การที่คนส่วนใหญ่มองว่าถึงเวลาแล้วที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และสนใจติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมีขึ้น น่าจะสอดคล้องกับประเด็นปัญหาสำคัญระดับชาติ คือ การมองผลงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่กระทบปากท้องของประชาชนเป็นหลัก แม้ว่าประชาชนจะมีความเบื่อกับการอภิปรายเนื้อหาหรือประเด็นเดิม ซ้ำ ๆ การโต้เถียง ทะเลาะเบาะแว้ง การประท้วงบ่อยครั้ง แต่ก็เห็นว่าการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นไม่น่าจะมีผลให้เกิดการยุบสภา ส่วนผู้ที่คาดว่าจะถูกอภิปรายเป็นอันดับที่ 1 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม อันดับที่ 2 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และอันดับที่ 3 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกอนงค์ ศรีสำอางค์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.ค. 2565 เวลา : 20:26:13
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 4:45 am