การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สธ.ร่วม กต.ประสาน "กัมพูชา" ติดตามผู้ป่วยฝีดาษวานรข้ามแดน ส่วนผู้สัมผัสไม่พบเชื้อ


กระทรวงสาธารณสุข เผยประสานกัมพูชาผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้ติดตามผู้ป่วยฝีดาษวานรรายแรกของประเทศไทยแล้ว หลังตำรวจพบสัญญาณโทรศัพท์มือถือข้ามแดนไปแล้ว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 19 ราย ตรวจไม่พบเชื้อ 2 ราย อยู่ระหว่างรอผล 17 ราย ตรวจเชิงรุก 142 ราย พบมีอาการ 6 ราย ผลไม่พบเชื้อ 5 ราย ออกนอกประเทศและปฏิเสธการตรวจอย่างละราย ย้ำโรคไม่ได้ติดต่อง่ายแบบโควิด เน้นเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ไม่สัมผัสผู้ที่มีตุ่มผื่น

 

 
วันนี้ (23 กรกฎาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้ากรณีโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ว่า หลังจากรายงานยืนยันว่าชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี เป็นผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกของประเทศไทย การติดตามผู้สัมผัสพบว่า มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง 19 ราย ไม่มีอาการป่วย ส่งสิ่งส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ทั้งหมดแล้ว ผลออกมาไม่พบเชื้อ 2 ราย อยู่ระหว่างการตรวจและรอผลอีก 17 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 14 ราย ส่วนการค้นหาเชิงรุกมีจำนวน 142 ราย ไม่พบอาการผื่นสงสัย แต่มีอาการอื่นๆ คือ ไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 6 ราย ส่งตรวจแล้ว 5 ราย ผลออกมาไม่พบเชื้อ ไปต่างประเทศ 1 ราย

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับชายชาวไนจีเรียที่เป็นผู้ป่วยฝีดาษวานรที่พบรายแรก ได้รับแจ้งจากทางตำรวจและสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตว่า พบสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ชายแดนประเทศกัมพูชา ค่อนข้างชัดเจนว่าหลบหนีออกทางช่องทางธรรมชาติ ซึ่งเราประสานไปยังทางการกัมพูชาแล้วในการติดตามผู้ป่วยรายดังกล่าว ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วที่มีความร่วมมือสาธารณสุขชายแดนจังหวัดสระแก้วกับจังหวัดบันเตียเมียนเจย ส่วนข้อกังวลว่าผู้ป่วยรายนี้จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างหรือไม่นั้น ขอย้ำว่าโรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายอย่างโควิด การติดต่อต้องเป็นการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ และอาการโรคส่วนใหญ่ ไม่ได้มีความรุนแรง ซึ่งมาตรการป้องกันตนเองจากโควิด ยังสามารถใช้ป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ป้องกันการสัมผัสผู้ที่มีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองตามผิวหนัง และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

“องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังไม่ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ และประเทศไทยยังกำหนดให้โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ไม่ได้เป็นโรคติดต่ออันตราย เมื่อพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานรต้องรายงาน ไปยังเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่เพื่อทำการสอบสวนและควบคุมโรคโดยเร็ว ซึ่งเมื่อวานนี้ (22 กรกฎาคม 2565) กรมควบคุมโรค โดยกองระบาดวิทยาได้ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แจ้งยกระดับการเฝ้าระวังที่คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกสุขภาพทางเพศ และคลินิกแพทย์ที่มีผู้ป่วยสงสัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาใช้บริการ สื่อสารแนวทางการเฝ้าระวังคัดกรองและรายงาน หากพบผู้มีอาการสงสัยให้ส่งตรวจเชื้อไวรัสฝีดาษวานร (Monkeypox) ทันทีที่ห้องปฏิบัติการที่ระบุในแนวทางดำเนินการ” นพ.โอภาสกล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.ค. 2565 เวลา : 19:55:56
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 11:03 am