การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
เผยโฉมโรงเรียนที่มีผลงานโดดเด่นด้านการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ ประจำปี 2565


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่โรงเรียนที่มีผลงานโดดเด่นด้านการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2565 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

 
รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ต่อยอดขยายผลมาจากโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ที่ได้ส่งมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ไปแล้ว 560 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้โรงเรียนนำไปจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมดาราศาสตร์ภายในโรงเรียน และขยายผลไปสู่กิจกรรมดาราศาสตร์ในชุมชน และการสร้างโครงงานดาราศาสตร์ในโรงเรียน เวทีนี้จึงถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นแบบอย่าง และแนวทางการปฏิบัติที่ดีให้โรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโอกาสต่อไป

เนื่องจาก ปี 2564 ที่ผ่านมา อยู่ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โรงเรียนส่วนใหญ่ใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นหลัก การจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนจึงมีอุปสรรคค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามหลายโรงเรียนก็ได้ปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นแบบออนไลน์ที่หลากหลาย คู่ขนานไปกับการ

จัดกิจกรรมที่โรงเรียน สร้างความแปลกใหม่ และสอดรับกับการดูดาววิถีใหม่ได้เป็นอย่างดี สำหรับกิจกรรมดาราศาสตร์เพื่อชุมชน เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น และทุ่มเทของครูผู้สอนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการจัดกิจกรรมให้กับประชาชนทั่วไปในโอกาสต่างๆ หลายกิจกรรมต้องออกนอกพื้นที่ในยามค่ำคืน ต้องขอชื่นชมในความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณครูทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง ส่วนการศึกษาโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนในปีนี้ มีหลายโรงเรียนที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเอง ที่แต่เดิมคิดว่าไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อได้รับคำแนะนำที่ดีจากทีม สดร. คุณครูก็มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น สามารถสนับสนุนจนนักเรียนสามารถทำโครงงานวิจัยดาราศาสตร์ได้สำเร็จอย่างงดงาม นอกจากนี้ปีนี้ยังมีรางวัลดาวรุ่งพุ่งแรง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เพิ่งเริ่มทำกิจกรรมดาราศาสตร์เป็นปีแรก แต่มีผลงานการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์เป็นที่น่าประทับใจคณะกรรมการเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน ครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 10 กรกฎาคม 2565 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ปีนี้พิเศษกว่าที่ผ่านมา มีการการขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนทั่วประเทศที่อยู่นอกเหนือกลุ่มเครือข่ายฯ ข้างต้น สามารถสมัครเข้าร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังจัด Workshop กิจกรรมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในชั้นเรียน โดยเชิญครูที่มีผลงานจัดกิจกรรมอย่างโดดเด่นและต่อเนื่องร่วมเป็นวิทยากร เพื่อให้ครูที่เข้าร่วมการประชุมได้นำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนของตนต่อไป
 

 
ในปีนี้มีผลงานผ่านเข้ารอบนำเสนอจำนวนทั้งสิ้น 48 ผลงาน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน กิจกรรมดาราศาสตร์สู่ชุมชน กิจกรรมศึกษาโครงงานดาราศาสตร์ ผลการคัดเลือกตัวแทนโรงเรียนที่มีความโดดเด่นในการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ ประจำปี 2565 เป็นดังนี้

ประเภทกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน รายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่

 
1. กิจกรรมชุมนุมดาราศาสตร์ โรงเรียนโคกสว่างคุ้มวิทยานุสรณ์ จ.อุบลราชธานี โดย นายศุภชัย จันทร์งาม

2. แหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์โรงเรียนเถินวิทยา โรงเรียนเถินวิทยา จ.ลำปาง โดย นางสาววชิรา สุภาสอน

 
3. กิจกรรมออกแบบและสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ในรูปแบบโมเดลกระดาษ โรงเรียนสาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี โดย นายบุญส่ง เห็นงาม

รายชื่อผู้ได้รับรางวัลดาวรุ่งพุ่งแรง จำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่

1. กิจกรรม Astronomy Puzzle ปริศนาดาราศาสตร์ โรงเรียนอรุโณทัยวิทยาคม จ.เชียงใหม่ โดย นายฐิติคมภ์ เขนย

2. กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ดาราศาสตร์ "Napoon Star" โรงเรียนบ้านนาพูน จ.แพร่ โดย นางสาวนิตยา วงค์ในประเภทกิจกรรมดาราศาสตร์สู่ชุมชน รายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่
 
 
1. ดาราศาสตร์ "จากท้องนภาสู่ธารนทีวิถีชุมชนคนดูดาว" โรงเรียนเทศบาล 3 (วัดแสงธรรมสุทธาราม) จ.นครสวรรค์ โดย นายสัมผัด แก้วเอี่ยม

2. ดาราศาสตร์กับวัฒนวิถีชุมชนตำบลแหลมสน โรงเรียนบ้านสนกลาง จ.สตูล โดย นายตอเหลบ ปอหรา

ประเภทกิจกรรมการศึกษาโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน รายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่

1. กว่าจะติดกระดุมเม็ดแรก "โครงงานดาราศาสตร์ โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล จ.นครพนม โดย นางไฝคำ เผือดผุด

2. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความลึกและเส้นผ่านศูนย์กลางของหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จ.ศรีสะเกษ โดย นางสาวศศิธร อินทรยงค์

3. BEEF MODEL: จากเนื้อย่างสู่การสร้างสรรค์โครงงานดาราศาสตร์ โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี จ.เพชรบุรี โดย นายทวีรักษ์ ทูลพุทธา

ภาพบรรยากาศการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม 2565 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

ดาวน์โหลดภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/CAAS2022-Gallery

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ส.ค. 2565 เวลา : 21:22:57
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 4:07 pm