การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ประเดิมประชุม APEC สุขภาพวันแรก หารือเชิงนโยบาย "Smart Families" รับมือเกิดน้อย กระทบแรงงาน-เศรษฐกิจ


ประเดิมประชุม APEC Health Week วันแรก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดประชุมข้อหารือเชิงนโยบาย “ครอบครัวคุณภาพ Smart Families” ระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านสาธารณสุข การวางแผนครอบครัว สถาบันการศึกษา องค์การระหว่างประเทศ สร้างแนวทางรับมือปัญหาโครงสร้างประชากร เผย 17 เขตเศรษฐกิจ มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าอัตราทดแทน หวั่นเกิดน้อยทำวัยแรงงานลดลง เจอปัญหาหลังแอ่นแบกรับดูแลสังคม เลี้ยงดูเด็กและคนแก่ กระทบเศรษฐกิจระยะยาว


 
วันนี้ (22 สิงหาคม 2565) ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมข้อหารือเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) ประเด็น “ครอบครัวคุณภาพ (Smart Families)” ภายในการประชุม APEC Health Week ซึ่งจัดประชุมวันนี้เป็นวันแรก โดย ดร.สาธิตกล่าวว่า ปัจจุบันสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ พบว่า มีถึง 17 เขตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากร คือ มีอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมต่ำกว่าอัตราการทดแทน ทำให้จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลง จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรราว 66 ล้านคน เข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) เรียบร้อยแล้ว และกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในไม่ช้า มีอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate) 1.24 ปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน ทั้งที่อัตราการเจริญพันธุ์รวมควรอยู่ที่ประมาณ 1.6
 

 
“ขณะนี้ประเทศไทยมีเด็กแรกเกิดลดลงทุกปี จากปี 2560 เด็กเกิดประมาณ 7 แสนคน ปัจจุบันในปี 2564 ลดเหลือ 5.4 แสนคน จำนวนการเกิดลดลงเรื่อยๆ จนใกล้เคียงจำนวนการตาย หากไม่ทำอะไรเลยการเกิดจะน้อยกว่าการตาย ประชากรไทยอาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานที่ต้องอุ้มชูดูแลทั้งสังคม วัยเด็ก และวัยสูงอายุ มีจำนวนลดลงและแบกรับภาระมากขึ้น โดยคาดว่า 40 ปีข้างหน้าวัยทำงานลดลง 15 ล้านคน มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 12 ล้านคน ทำให้กระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเงินการคลังของประเทศ” ดร.สาธิตกล่าว
 

 
ดร.สาธิตกล่าวว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้มาแลกเปลี่ยนสถานการณ์และหารือสร้างฉันทามติเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาสถานการณ์นี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนครอบครัว ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน ของแต่ละเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วม เช่น แนวทางการวางแผนการเจริญพันธุ์สำหรับบุคคลและครอบครัวที่ต้องการมีบุตรและหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น โดยประเทศไทยมีการนำเสนอเรื่องของโครงการครอบครัวคุณภาพ Smart Families

 
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นโยบายด้านประชากรของไทยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกการส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น สมัยช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ทำให้ประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก 14.5 ล้านคนในปี 2480 เป็น 26.3 ล้านคน ในปี 2503 ช่วงที่สอง การส่งเสริมการวางแผนครอบครัว หลังจากที่ประเทศไทยมีการเกิดมากขึ้น เพื่อลดการเพิ่มของประชากร โดยประกาศนโยบายครั้งแรกเมื่อ ปี 2513 ซึ่งพัฒนาเป็นโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ ที่ประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยอัตราคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 72 และช่วงที่สามคือปัจจุบันที่จำนวนและโครงสร้างประชากรมีความซับซ้อนกว่าในอดีต ถือเป็นความท้าทายต่อนโยบายประชากรครั้งใหม่ เนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์รวมของไทยลดลงอย่างมาก มีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทั้งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจและการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย โดยขณะนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำที่สุดในโลกจากข้อมูล World Population Prospect 2022 พบว่าในปี  2564 มีเพียง 20 ประเทศเท่านั้นที่มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าประเทศไทย
 

 
 
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยจัดทำเรื่องของครอบครัวคุณภาพ Smart Families มีการออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ คือ นโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 เพื่อส่งเสริมการเกิดที่มีความพร้อม มีความตั้งใจ และส่งเสริมการดูแลเลี้ยงดูเด็กที่เกิดมาให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป มีการออก พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านรูปแบบของคณะกรรมการทำให้สามารถลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ลงได้ครึ่งหนึ่งก่อน 10 ปี และตั้งเป้าหมายจะลดอัตราคลอดในวัยรุ่นภายในปี 2570 ให้เหลือไม่เกิน 1.5 ต่อพันประชากร นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาการหลุดจากระบบการศึกษา มีการจัดสวัสดิการต่างๆ ในการช่วยเหลือแม่วัยรุ่นด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ส.ค. 2565 เวลา : 18:08:36
01-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2024, 2:49 am