แบงก์-นอนแบงก์
"กรุงไทย" จับมือ "กรมบัญชีกลาง" เปิดตัว e-GP ระบบจัดซื้อจัดจ้างแบบใหม่ ใช้ Blockchain พัฒนาระบบความปลอดภัย


 
ธนาคารกรุงไทย จับมือ กรมบัญชีกลาง เปิดตัว e-GP Transformation for Thailand’s Future “ติดปีกธุรกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต" นำแอปฯ เป๋าตังและเทคโนโลยี Blockchain ช่วยยกระดับความปลอดภัยให้ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) พร้อมรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลคู่ค้าภาครัฐผ่านระบบ “PromptBiz” สนับสนุนคู่ค้าภาครัฐเข้าถึงบริการทางการเงินรูปแบบดิจิทัลครบวงจร

 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยโครงการ e-GP Transformation for Thailand’s Future  ถือเป็นความร่วมมือสำคัญ ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยยกระดับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการเข้ามาเป็นผู้ค้าภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และ Startup จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลจากภาคธนาคารได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการรายเล็กในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น อันจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนและนำพาเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ

 
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้ให้ความสำคัญและผลักดันในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นในการให้บริการของกรมบัญชีกลางมาอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับทางธนาคารกรุงไทยในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มายกระดับความโปร่งใสและปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล และกระบวนการเสนอราคา e-bidding ซึ่งในบล็อกเชนจะมี Smart Contract หรือชุดคำสั่ง มาควบคุมและเสริมสร้างระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีผู้ใดเข้าถึงข้อมูลการเสนอราคาได้ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาเสนอราคา และมีการเก็บข้อมูลในทุกๆ Transaction เพื่อสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด นอกจากนี้  ยังได้นำระบบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” มาช่วยยืนยันตัวตนผู้ค้าภาครัฐ เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในขั้นตอนการลงทะเบียนเป็นผู้ค้าภาครัฐ เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อมุ่งหวังให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากที่สุด มีความคล่องตัว รวดเร็ว และทั่วถึง สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการติดตามเร่งรัด การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  อันจะทำให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

โครงการ e-GP Transformation for Thailand’s Future ถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการยกระดับธุรกิจ SMEs ที่เป็นผู้ค้าภาครัฐกว่า 3 แสนราย ให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาคธนาคารมากขึ้น โดยกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมของระบบ e-GP ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการเป็นคู่สัญญาของผู้ประกอบการที่ได้รับงานภาครัฐ เข้าสู่ระบบมาตรฐานกลาง อย่าง Smart Financial and Payment Infrastructure (“SFPI”) หรือที่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า “PromptBiz” ที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการทำธุรกรรมการค้าในรูปแบบดิจิทัลและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยด้วยเทคโนโลยี และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้อย่างทัดเทียม  ซึ่งปกติแต่ละปี โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีการประมูลในระบบ e-Bidding อยู่ที่ 640,000 ล้านบาท การนำระบบดังกล่าวเข้ามาใช้ คาดว่าจะสามารถประหยัดงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไปได้ไม่ต่ำกว่า 10% ดังนั้น โครงการนี้ถือเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญ โดยมุ่งพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ และยกระดับการทำธุรกรรมการค้ากับภาครัฐให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลอย่างครบวงจร

 
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงการคลังในทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึงบริการของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และโปร่งใส ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นในทุกวันตามยุทธศาสตร์ X2G2X ของธนาคาร โดยธนาคารได้ร่วมกับกรมบัญชีกลางพัฒนาโครงการ  e-GP Transformation for Thailand’s Future เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พร้อมติดปีกธุรกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต ด้วยโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ผ่านโครงการการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ต่อยอดเชื่อมโยงกับ “PromptBiz” สนับสนุนการทำธุรกรรมการค้าให้เป็นดิจิทัลแบบครบวงจร โดยเชื่อมโยงข้อมูลการค้าและการชำระเงินของภาคธุรกิจเข้ากับข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงินและระบบภาษีของภาครัฐ แก้ Pain Point การทำธุรกิจแบบเดิมที่ใช้เอกสารกระดาษ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ ผ่าน Digital Supply Chain Finance 

 
“ธนาคาร พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0  สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs สร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายผยง กล่าวทิ้งท้าย


 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ส.ค. 2565 เวลา : 19:58:55
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 1:56 am