การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
"พลเอก ประวิตร" ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม กทม.หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง สั่งเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง และช่วยเหลือประชาชน


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเขตกรุงเทพมหานคร ณ พื้นที่เขตหนองจอก และเขตมีนบุรี โดยจุดแรกได้เดินทางไปยังประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ มีนบุรี เขตมีนบุรี โดยรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำภายในคันกั้นน้ำพระราชดำริ และโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะ 1 และระยะ 2 จากผู้แทนกรุงเทพมหานคร ก่อนเดินทางต่อไปยังประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำหนองจอก เขตหนองจอก เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเรื่องการระบายน้ำพื้นที่นอกคันกั้นน้ำพระราชดำริ และพื้นที่รอยต่อ จ.ฉะเชิงเทรา โดยผู้แทนกรมชลประทาน หลังจากนั้น คณะได้เดินทางไปยังวัดวิบูลย์ธรรมาราม เขตหนองจอก เพื่อแจกถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม


 
 
 
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้เกิดน้ำท่วมขัง และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการกรุงเทพมหานคร หน่วยทหาร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยในส่วนของการบริหารจัดการมวลน้ำได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กอนช.ประสานกับกรุงเทพมหานคร ในการอำนวยการ กำกับ ติดตาม และประสานงานเพื่อลดปัญหาอุปสรรค หรือการขอสนับสนุนกำลังคน เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่ยังเป็นข้อจำกัดของกรุงเทพมหานคร ให้เพียงพอในการสูบน้ำ ระบายน้ำ เพื่อประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังจากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเกินศักยภาพที่คลองและแม่น้ำจะรับได้
 

 
 
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงวันที่ 15 - 19 ก.ย. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าว กอนช.ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเตรียมซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ การช่วยเหลือประชาชน และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือสถานการณ์ฝนที่จะมาเพิ่มอีกระลอกให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงจะมีการคาดการณ์ปริมาณฝน น้ำท่า เพื่อแจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องในระดับพื้นที่เฉพาะจุดในการสื่อสารให้สามารถเข้าถึงประชาชนตรงจุดที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากน้ำหลากล่วงหน้าให้ได้มากที่สุด
 

 
 
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ กทม.สาเหตุเกิดจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องในพื้นที่ ปริมาณน้ำเหนือไม่ได้ส่งผลต่อน้ำท่วมในพื้นที่เขต กทม.แต่อย่างใด โดยจากข้อมูลปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ กทม.ตั้งแต่ ม.ค. 65 ถึงปัจจุบันมีปริมาณทั้งสิ้น 1,596 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยและสูงกว่าปริมาณฝนปี 2563 และปี 2564 และพบว่าในช่วงระหว่าง 1-12 ก.ย.ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกหนักฝั่งตะวันออกและตอนกลางของ กทม.โดยปริมาณฝนสูงสุดในพื้นที่เขตบางเขนวัดได้ 479 มิลลิเมตร ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมทรัพยากรน้ำ ส่งเครื่องสูบน้ำมาสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในพื้นที่ต่อไป.

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ย. 2565 เวลา : 18:18:16
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 8:20 am